แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
(1) ในสำนวนแรกที่โจทก์ฟ้องจำเลยว่าผิดสัญญาหมั้น เรียกค่าสินสอดของหมั้นและค่าทดแทนโดยอ้างว่าจำเลยไม่ส่งตัวจำเลยที่ 3 ให้หลับนอนกับโจทก์ และไม่จัดการให้ไปจดทะเบียนสมรส โดยจำเลยที่ 3 ได้หลบหนีไปเสียนั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 – 2 ซึ่งเป็นบิดามาตราของจำเลยที่ 3 มิได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 3 หลบหนีไป ตรงข้ามยังได้จัดการส่งตัวจำเลยที่ 3 เข้าห้องเรือนหอร่วมกับโจทก์ และเมื่อโจทก์บอกจำเลยที่ 2 – 3 ให้จัดการเรื่องจดทะเบียนสมรสแล้วจำเลยได้ขอผัดเป็นวันหลัง โจทก์ก็ไม่เร่งรัด ครั้นแต่งงานได้ 3 วัน เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 3 เดินทางผ่านอำเภอ โจทก์ก็ไม่ชวนจำเลยที่ 3 ให้แวะเข้าไปจดทะเบียน ซึ่งเห็นได้ว่าโจทก์ไม่สนใจนำพาต่อการจดทะเบียนเอง เช่นนี้ โจทก์ยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินสอดของหมั้นและค่าทดแทน
(2) ส่วนในสำนวนหลังที่จำเลยกลับฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรส และเรียกค่าเสียหายนั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่โจทก์ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 3 นั้น จะปรับเป็นความผิดของโจทก์มิได้ เพราะภายหลังพิธีแต่งงานแล้ว จำเลยที่ 3 ได้ร่วมอยู่กินหลับนอนกับโจทก์ได้เพียง 3 วันแล้วก็หลบหนีไปเพราะทนต่อวิธีร่วมประเวณีของโจทก์มิได้ จนเกิดฟ้องร้องกันขึ้นแล้ว จำเลยที่ 3 จึงกลับใจจะขออยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ โดยขอให้ไปจดทะเบียนสมรสแต่โจทก์ไม่ยินยอมเพราะเกรงจำเลยที่ 3 จะทำเช่นเดิม เช่นนี้ จะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาหมั้นอันจะต้องใช้ค่าเสียหายตามที่จำเลยฟ้องโจทก์และเรียกร้องมานั้นหาได้ไม่
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษามาด้วยกัน เรียกนายวินัยว่าโจทก์ เรียกนายทิมกับพวกว่าจำเลย
สำนวนแรก โจทก์ฟ้องจำเลยผิดสัญญาจะสมรส โดยอ้างว่าไม่ส่งตัวจำเลยที่ ๓ ให้หลับนอนกับโจทก์ และไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรส ขอให้คืนสินสอดทองหมั้น เงินค่ารับไหว้ กับใช้ค่าทดแทนความเสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
สำนวนหลัง จำเลยทั้ง ๓ กลับฟ้องโจทก์ว่าทำทารุณก่อนร่วมประเวณีทุกครั้ง จำเลยที่ ๓ ทคนความเจ็บปวดไม่ได้จึงแยกจากโจทก์ไปชั่วคราว และทางฝ่ายจำเลยขอให้ไปจดทะเบียนสมรส โจทก์กลับไม่ยอม ทำให้ได้รับความเสียหาย คือ ค่าเลี้ยงอาหารวันแต่งงาน ค่ารับไหว้ ค่าเสียเชื่อเสียง และความบริสุทธิ์ของจำเลยที่ ๓ ขอให้ชดใช้
โจทก์ให้การปฏิเสธต่อสู้หลายประการ
ศาลแพ่งพิจาณาแล้ววินิจฉัยว่าที่จำเลยว่าโจทก์ร่วมประเวณีด้วยความทารุณและวิตถารเยี่ยงสัตว์ป่าและทำการทารุณเสียก่อนจึงร่วมประเวณีด้วยนั้น ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องวิตถารหรือการทำทารุณอย่างใด การที่จำเลยที่ ๓ ไม่ยอมร่วมประเวณีกับโจทก์อย่างสามีภรรยา หลบหนีไปเสียไม่ส่งข่าวให้ทราบ เป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่ประสงค์จะสมรสกับโจทก์ จึงผิดสัญญาหมั้น สัญญาหมั้นระหว่างโจทก์จำเลยจึงระงับไป การที่เสนอขอสมรสใหม่โจทก์ชอบที่จะบอกปัดเสียได้ พิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าทดแทน คืนเงินของหมั้นค่าสินสอดให้โจทก์
จำเลยทั้ง ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเบื้องต้นว่า โจทก์ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ ๓ หรือไม่ เมื่อวินิจฉัยแล้ว ศาลอุทธรณ์เชื่อว่าจำเลยที่ ๓ ได้เสียกับโจทก์แล้ว แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า การที่ไม่มีการจดทะเบียนสมรสนั้น จะปรับเป็นความผิดของฝ่ายจำเลยหาได้ไม่ โดยเฉพาะจำเลยที่ ๑ – ๒ ซึ่งเป็นบิดามาตราก็ได้นำตัวจำเลยที่ ๓ ส่งให้โจทก์แล้ว มิได้รู้เห็นในการที่จำเลยที่ ๓ หลบหนี การจดทะเบียนก็เป็นที่เข้าใจกันว่าจะได้กระทำในภายหลัง การที่จำเลยที่ ๓ หลบหนีไปก็เพราะทนการปฏิบัติในการหลับนอนของโจทก์ไม่ได้นั้น จะถือว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ ๓ ไม่ถนัดเห็นว่าโจทก์จะฟ้องเรียกเงินสินสอดทองหมั้นคืน และเรียกค่าทดแทนใด ๆ จากจำเลยหาได้ไม่ ส่วนคำฟ้องของจำเลยศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่โจทก์ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสนั้น น่าจะเป็นการฟ้องแก้เกี้ยวการที่โจทก์หลับนอนกับจำเลยที่ ๓ ด้วยวิธีดังจำเลยที่ ๓ ให้การ อาจรุนแรงไปบ้างในความรู้สึกของจำเลยที่ ๓ แต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นการทารุณวิตถารเยี่ยงสัตว์ป่าอย่างใด การที่จำเลยที่ ๓ หลบหนีไม่รู้ไปอยู่แห่งใด ทำให้โจทก์เห็นว่าจะอยู่กินต่อไปคงไม่ราบรื่น จึงไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วย จะเหมาว่าเป็นความผิดของโจทก์หาได้ไม่ โจทก์ไม่ควรต้องชำระค่าทดแทน และเห็นว่า หากโจทก์จะต้องชดใช้ค่าทดแทนใด ๆ เงินของหมั้นก็เป็นค่าทดแทนเพียงพอแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๓๙ พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องของโจทก์ และของจำเลยทั้งสองสำนวน
โจทก์และจำเลยทั้ง ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาได้ตั้งประเด็นข้อแรกเพื่อวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ ๓ แล้วหรือไม่ แล้ววินิจฉัยมีความสำคัญตอนหนึ่งว่า โดยเหตุผลธรรมดาแล้ว เป็นการผิดวิสัยที่ชายหนุ่มหญิงสาวเช่นโจทก์และจำเลยที่ ๓ อยู่ด้วยกันตามลำพังสองต่อสองจะไม่ร่วมหลับนอนด้วยกัน จะว่าจำเลยที่ ๓ ไม่พอใจโจทก์ ไฉนจึงยอมให้ถูกส่งตัวเข้าห้องอยู่ร่วมกับโจทก์ จะบิดพริ้วเสียแต่แรกก็ยังทำได้ จำเลยขอให้โจทก์สาบานต่อหน้าพระแก้วมรกตว่า ไม่เคยร่วมหลับนอนกับจำเลยที่ ๓ โจทก์ก็เกี่ยงให้เอาตัวจำเลยที่ ๓ ไปสาบานด้วย ทั้งที่ยังหาตัวไม่พบ ศาลฎีกาจึงเชื่อว่าโจทก์ได้ร่วมหลับนอนกับจำเลยที่ ๓ แล้ว
ข้อที่โจทก์หาว่าจำเลยทั้ง ๓ ผิดสัญญา เพราะไม่จัดการให้จำเลยที่ ๓ จดทะเบียนสมรสกับโจทก์นั้น เฉพาะตัวจำเลยที่ ๑ – ๒ ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ ๓ ไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นได้เลยว่ามีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ ๓ หลบหนี ตรงข้ามยังได้จัดการส่งตัวจำเลยที่ ๓ เข้าห้องเรือนหอร่วมกับโจทก์ ตัวโจทก์เองก็เบิกความว่า รุ่งขึ้นจากวันแต่งงาน โจทก์ได้พูดกับจำเลยที่ ๒ – ๓ ขอให้ไปจัดการจดทะเบียนสมรสกันเสียจะได้ไม่ยุ่งยาก จำเลยที่ ๒ ว่า เอาไว้วันหลังโจทก์ก็ไม่เร่งรัดอะไร และเมื่อโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ผ่านอำเภอกระทุ่มแบนในวันที่สามจากแต่งงานกันไปแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้ชวนจำเลยที่ ๓ แวะเข้าไปจดทะเบียนสมรส เห็นได้ว่าโจทก์ไม่สนใจนำพาต่อการจดทะเบียนสมรส ส่วนการที่จำเลยที่ ๓ ทนต่การปฏิบัติของโจทก์ในเวลาร่วมประเวณีไม่ได้จึงหลบหนีไปเสีย จะปรับเอาเป็นความผิดแก่จำเลยคนใดหาได้ไม่ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินสินสอดของหมั้นและค่าทดแทนใด ๆ จากจำเลย
ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสามที่หาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสและเรียกร้องค่าเสียหายด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ ๓ จะปรับเป็นความผิดของโจทก์ยังไม่ได้ เพราะหลังจากพิธีแต่งงานตามประเพณีแล้ว จำเลยที่ ๓ ได้ร่วมอยู่กินหลับนอนกับโจทก์ได้เพียงสามวันแล้วก็หลบหนีไป เพราะทนต่อการปฏิบัติของโจทก์ในระหว่างร่วมประเวณีไม่ได้ จนเกิดฟ้องร้องคดีนี้ขึ้นแล้ว จำเลยที่ ๓ จึงกลับใจจะขออยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ โดยขอให้ไปจดทะเบียนสมรส ซึ่งโจทก์ไม่ยินยอม เพราะเกรงจำเลยที่ ๓ จะกระทำเช่นเดิม ก็มีเหตุผลฟังได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน