คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้(จำเลย) ในเวลาที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จะขอใช้สิทธินำเงินฝากประจำพร้อมดอกเบี้ยของลูกหนี้ (จำเลย) มาหักกลบลบหนี้กับเงินที่ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้แล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาว่าในวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ (จำเลย) นั้น ผู้ร้องเป็นหนี้ลูกหนี้ (จำเลย) เป็นเงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยเพียงใดก่อนแล้วจึงนำมาหักกลบลบหนี้กับลูกหนี้ (จำเลย)ได้ผู้ร้องจึงนำดอกเบี้ยของลูกหนี้ (จำเลย) ที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วมาหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 102 ไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2536 และพิพากษาให้จำเลยทั้งสามล้มละลายเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2537

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้และศาลมีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามเป็นเงิน289,167,977.99 บาท ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2539 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอนำเงินฝากประจำที่จำเลยที่ 1 ฝากไว้กับผู้ร้องจำนวน4,057,564.23 บาท มาหักกลบลบหนี้กับเงินที่ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม แต่ผู้คัดค้านเห็นว่าเงินฝากในบัญชีของจำเลยที่ 1 คำนวณถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นเงิน 3,016,694.99 บาท และเมื่อคำนวณต้นเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอหักกลบลบหนี้เป็นเงิน 4,141,040.81 บาทซึ่งยอดที่เพิ่มนี้เป็นดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดรวมอยู่ด้วยเป็นเงิน 1,124,345.82 บาท ผู้ร้องจะนำเอาดอกเบี้ยดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้และมีคำสั่งให้ผู้ร้องหักกลบลบหนี้ได้3,016,694.99 บาท และให้ผู้ร้องส่งเงิน 1,124,345.82 บาท ต่อผู้คัดค้านคำสั่งของผู้คัดค้านดังกล่าวไม่ถูกต้องเนื่องจากการที่จำเลยที่ 1 ฝากเงินไว้กับผู้ร้องนั้น ผู้ร้องจะต้องคืนเงินฝากดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 1เมื่อถูกทวงถามตามเงื่อนไขและเวลาที่กำหนด และจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้ดอกเบี้ยตลอดเวลาจนกว่าจะถอนเงินคืนทั้งหมด ซึ่งผู้ร้องมีหน้าที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 1 ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ถอนเงินคืน เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอหักกลบลบหนี้ หน้าที่ที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 1 ก็จะสิ้นสุดลงเพียงนั้น ดังนั้น เงินต้นและดอกเบี้ยที่คำนวณถึงวันขอหักกลบลบหนี้จึงเป็นหนี้ที่ผู้ร้องจะต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งหมด มิใช่เฉพาะยอดเงินที่คำนวณถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องหักกลบลบหนี้เป็นเงิน 4,057,564.23 บาท และไม่ต้องส่งเงิน 1,124,345.82บาท ต่อผู้คัดค้าน

โจทก์และผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นหนี้ที่ผู้ร้องจะนำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้เนื่องจากหนี้ที่นำมาขอหักกลบลบหนี้ได้ต้องเป็นหนี้ที่มีอยู่ก่อนหรือมีอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 102 ขอให้ยกคำร้อง และให้ผู้ร้องหักกลบลบหนี้ได้ 3,016,694.99 บาท และส่งเงิน 1,124,345.82 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟังคำสั่งผู้คัดค้านเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของผู้คัดค้านให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทั้งสามถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 10มิถุนายน 2536 ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสามและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามเป็นเงิน 289,167,977.99บาท ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2539 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านเพื่อขอนำเงินฝากประจำที่จำเลยที่ 1 ฝากไว้กับผู้ร้องพร้อมดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอหักกลบลบหนี้เป็นเงิน 4,057,564.23 บาท กับเงินที่ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้แล้วแต่ผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ผู้ร้องหักกลบลบหนี้ได้เพียง 3,016,694.99 บาท อันเป็นยอดเงินในบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 คำนวณถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและให้ผู้ร้องส่งเงินอีก 1,124,345.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันที่ 16 มกราคม 2541 อันเป็นวันที่ผู้ร้องทราบคำสั่งของผู้คัดค้านเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องจะนำดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้วมาหักกลบลบหนี้กับเงินที่ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ ที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่าสิทธิหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 นั้น ผู้ร้องจะใช้สิทธิเมื่อใดก็ได้แม้หลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วและหนี้สินที่จะนำมาหักล้างกันระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 นั้น ต้องคิดคำนวณจนถึงวันขอหักกลบลบหนี้อันเป็นวันที่สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องสิ้นสุดลงนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 102บัญญัติไว้ว่า ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ถึงแม้ว่ามูลแห่งหนี้ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันก็ดีหรืออยู่ในเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาก็ดี ก็อาจหักกลบลบกันได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า การที่ผู้ร้องจะขอใช้สิทธินำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 มาหักกลบลบหนี้กับเงินที่ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้แล้วนั้นจะต้องพิจารณาว่า ในวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 นั้น ผู้ร้องเป็นหนี้จำเลยที่ 1 ตามบัญชีเงินฝากประจำคือเงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยเพียงใด แล้วจึงนำมาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 ได้ ผู้ร้องไม่อาจนำดอกเบี้ยของเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 ที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วมาหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 102 ได้”

พิพากษายืน

Share