แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับของจำเลยที่1กำหนดว่าการทำนิติกรรมใดๆต้องมีหุ้นส่วนผู้จัดการสองคนลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่1การที่จำเลยที่2ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทแต่ผู้เดียวจึงไม่ถูกต้องถือไม่ได้ว่าจำเลยที่1ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทอันจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา900แม้จำเลยที่2จะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่1ด้วยคนหนึ่งแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่1ได้เชิดจำเลยที่2ออกเป็นตัวแทนทั้งมิได้มีการนำเงินที่ได้จากการสั่งจ่ายเช็คพิพาทมาใช้ในกิจการของจำเลยที่1อันจะถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลยที่2และมีผลผูกพันจำเลยที่1ดังนี้จำเลยที่1จึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัดสำนักพหลโยธิน ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 สั่งจ่ายเงิน1,000,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้สลักหลังชำระหนี้ให้แก่นางระเบียบ ประถมด้วง ต่อมานางระเบียบ ประถมด้วงสลักหลังส่งมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดวันสั่งจ่ายโจทก์นำไปเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดสาขาลาดพร้าว 102 เพื่อให้เรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกันนั้นเอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,074,583.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เดิมจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2แต่ผู้เดียวเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราห้างหุ้นส่วนกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ ต่อมาเมื่อวันที่13 ตุลาคม 2532 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแก้ไขที่ตั้งสำนักงานและแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการเพิ่มเป็นจำนวน 3 คน คือ จำเลยที่ 2นายเลิศ สิจุติภูมิ และนายยินดี จุ้ยแจ่ม ให้หุ้นส่วนผู้จัดการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจึงจะมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เช็คพิพาทมีจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดยจำเลยที่ 1 ไม่รู้เห็นด้วย จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 74,583.24 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติกรรมกำหนดว่า การทำนิติกรรมใด ๆ เพื่อให้มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ต้องมีหุ้นส่วนผู้จัดการสองคนลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทแต่เพียงผู้เดียวจึงเป็นการไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทอันจะต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 900 แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1ด้วยคนหนึ่งแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เชิดจำเลยที่ 2 ออกเป็นตัวแทนทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่ามิได้มีการนำเงินที่ได้จากการสั่งจ่ายเช็คพิพาทมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1อันจะถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลยที่ 2และมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2