คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4214/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นพนักงานส่งเสริมการขาย ต้องออกไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดทุกเดือน เดือนละประมาณ 19 วันในการออกปฏิบัติหน้าที่ในต่างจังหวัดจำเลยจะจ่ายเบี้ยเลี้ยงอันได้แก่ค่าโรงแรมและค่าอาหารให้แก่โจทก์ วันละ 240 บาท ซึ่งเป็นจำนวนแน่นอนและเป็นการเหมาจ่าย ดังนี้ เบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ดังกล่าวถือว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย
โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2530 ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในต้นเงินที่ค้างชำระแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2525 ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่เกิน 5 ปี จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 แล้ว

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือนและค่าครองชีพ นอกจากนี้โจทก์ยังได้รับเบี้ยเลี้ยงจากจำเลยอีกคนละ 240 บาทต่อวัน ซึ่งจำเลยจ่ายให้เป็นประจำและแน่นอน ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงินคนละ 52,260 บาท แต่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียงบางส่วน ยังขาดอยู่อีกคนละ 39,660 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยจ่ายค่าโรงแรม ค่าพาหนะและค่าอาหารให้โจทก์เป็นรายวันเมื่อออกไปทำงานนอกสถานที่วันละ 240 บาทไม่ได้จ่ายให้ประจำเป็นการแน่นอน ไม่ใช่เบี้ยเลี้ยง โจทก์จะนำมาเป็นฐานคำนวนค่าชดเชยไม่ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยและโจทก์มิได้เรียกดอกเบี้ยภายใน 5 ปี จึงขาดอายุความ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพียงคนละ 12,600 บาทซึ่งจำเลยได้จ่ายให้ไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าครองชีพเป็นค่าจ้าง ส่วนค่าโรงแรมและค่าอาหารในระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในต่างจังหวัดเป็นการเหมาจ่ายวันละ 240 บาท ก็ถือเป็นค่าจ้าง ต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณ ค่าชดเชยส่วนสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 14,580 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 29เมษายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานส่งเสริมการขาย มีหน้าที่ต้องออกไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดเป็นประจำทุกเดือน เดือนละประมาณ 19 วัน ในการออกปฏิบัติหน้าที่ในต่างจังหวัดจำเลยจะจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้แก่โจทก์ทั้งสอง 240 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนี้มีจำนวนแน่นอนและเป็นการเหมาจ่าย ดังนี้ เบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสองวันละ 240 บาท จึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานของโจทก์ทั้งสอง ถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 จึงต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ฟ้องเรียกดอกเบี้ยในหนี้ที่ค้างชำระภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2525 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้าง จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2530 และศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในต้นเงินที่ยังค้างแก่โจทก์ทั้งสอง ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2525 ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่เกิน 5 ปี จึงชอบด้วยด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 แล้ว

พิพากษายืน

Share