แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกาได้และสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกัน แต่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในภายหลัง และจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้โจทก์เพื่อแก้ฎีกา การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้โจทก์ ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นจะถือว่าจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินคดี อันเป็นการทิ้งฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2), 247 ไม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้คืนเงินแก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ หลายประการ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 12,559,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2536 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ย ถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,393,610.54 บาท (ฟ้องวันที่ 31 ตุลาคม 2537) ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 12,559,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 12,000 บาท
โจทก์ฎีกาขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2543 พร้อมกับคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 แล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกาได้ โดยมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า “จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถาได้ รับฎีกาของจำเลยที่ 1 สำเนาให้โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 นำส่งภายในวัน 7 วัน นับแต่วันนี้หากไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ส่งไม่ได้มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา” ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2544 เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ไม่นำส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้โจทก์เพื่อแก้ฎีกาภายในกำหนด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ทิ้งฎีกาหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกาได้และได้มีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกันก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาใน ภายหลัง ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงนามทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 นำส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์เพื่อแก้ฎีกา ทั้งไม่ปรากฏว่ามีหมายแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำหมายนัดและสำเนาฎีกาให้โจทก์เพื่อแก้ฎีกา ภายใน 7 วัน ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้น จะถือว่าจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด อันเป็นการทิ้งฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2), 247 ไม่ได้
ให้ศาลชั้นต้นแจ้งคำสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ทราบและปฏิบัติตามคำสั่ง แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา ค่าฤชาธรรมเนียมไว้รวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่