คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 13 กำหนดเอาวันกระทำผิดเป็นข้อสำคัญว่า คดีใดจะให้ฟ้องต่อศาลทหารหรือศาลพลเรือน
ถ้าจำเลยเป็นนายทหารสัญญาบัตร ได้กระทำผิดในขณะที่ยังเป็นนายทหารประจำการอยู่ ต้องฟ้องต่อศาลทหารโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องนั้นจำเลยเป็นนายทหารนอกประจำการแล้วหรือไม่และการที่จำเลยเป็นรัฐมนตรีอยู่ด้วยในขณะกระทำผิด ก็ไม่ทำให้ข้อวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 16(2) เป็นบทบัญญัติให้นายทหารชั้นสัญญาบัตรที่กระทำผิดต่อคำสั่งหรือข้อบังคับตามประมวลกฎหมายอาญาทหารภายหลังที่เป็นนายทหารนอกประจำการแล้วต้องอยู่ในอำนาจศาลทหารด้วยเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดที่ได้ทำไว้เมื่อยังประจำการอยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า

ก. ก่อนที่โจทก์จะบวชเป็นพระภิกษุ โจทก์รับราชการเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรในประจำการ มียศเป็นร้อยเอก ตำแหน่งประจำแผนกสรรพาวุธทหารบก กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 11 มกราคม ถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2509 จำเลยที่ 1 ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และอยู่ในฐานะนายทหารสัญญาบัตรประจำการ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฝ่ายทหารและกลั่นแกล้งโจทก์ ได้สั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ

ข. ในระหว่างเดือนสิงหาคม 2506 ถึงเดือนพฤษภาคม 2509 จำเลยที่ 2 ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 5 (นครศรีธรรมราช) ได้กลั่นแกล้งสั่งดำเนินคดีและสั่งลงโทษโจทก์โดยไม่มีมูลความจริง ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 จะกระทำความผิดดังฟ้องข้อ ก. โดยจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในฐานะผู้บังคับบัญชาตามกฎหมายที่จะสั่งลงโทษโจทก์ได้

ขณะนี้จำเลยทั้งสองเป็นนายทหารสัญญาบัตรนอกประจำการแล้วขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 83

ศาลชั้นต้นงดการไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหารตามพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2489 มาตรา 13, 16(1) ศาลพลเรือนไม่มีอำนาจที่จะรับไว้พิจารณา จึงมีคำสั่งไม่ประทับฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารพ.ศ. 2498 บัญญัติว่า ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาวางบทลงโทษผู้กระทำผิดต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญา ในคดีซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด และมาตรา 16(1) บัญญัติว่า นายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นว่ากฎหมายกำหนดเอาวันกระทำผิดเป็นข้อสำคัญว่าคดีใดจะให้ฟ้องต่อศาลทหารหรือศาลพลเรือน คือถ้าผู้นั้นเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้กระทำผิดในขณะที่ยังเป็นนายทหารประจำการอยู่ก็ต้องฟ้องต่อศาลทหารโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องผู้นั้นเป็นนายทหารนอกประจำการแล้วหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอยู่ด้วยในขณะกระทำผิด ก็ไม่ทำให้ข้อวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ส่วนข้อความในมาตรา 16(2) เป็นบทบัญญัติให้นายทหารชั้นสัญญาบัตรที่กระทำผิดต่อคำสั่งหรือข้อบังคับตามประมวลกฎหมายอาญาทหารภายหลังที่เป็นนายทหารนอกประจำการแล้วต้องอยู่ในอำนาจศาลทหารด้วยเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดที่ได้ทำไว้เมื่อยังประจำการอยู่

พิพากษายืน

Share