คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อแหวนเพชรกับสร้อยคอทองคำจากโจทก์แล้วผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และได้จำหน่ายทรัพย์ดังกล่าวให้บุคคลอื่น จึงขอให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อ แต่โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด โดยได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์ตลอดจนข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วว่าฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อแหวนเพชรกับสร้อยคอทองคำจากโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นจะใช้คำว่าพยานโจทก์ยังมีเหตุสงสัยว่าจำเลยอาจจะไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อตามฟ้อง ก็หาใช่เหตุสงสัยดังถ้อยคำที่ปรากฏไม่ ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อตามฟ้องหรือไม่ไว้แล้ว ทั้งเป็นประเด็นเดียวกับประเด็นในคดีนี้ที่ได้กำหนดไว้ในชั้นชี้สองสถาน และคดีนี้ซึ่งคู่ความนำสืบทำนองเดียวกับที่สืบในคดีอาญาดังกล่าว ก็ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อทรัพย์ตามฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อแหวนเพชรและสร้อยคอทองคำจากโจทก์แล้วผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ทราบว่าจำเลยได้จำหน่ายทรัพย์ที่เช่าซื้อให้บุคคลอื่นไปแล้ว โจทก์จึงขอเรียกราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ สัญญาเช่าซื้อที่โจทก์อ้างเป็นสัญญาปลอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนแหวนเพชรกับสร้อยคอทองคำที่เช่าซื้อให้โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยชำระราคา ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ที่เช่าซื้อซึ่งเป็นทรัพย์ตามสัญญาเช่าซื้อในคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยให้เหตุผลว่า พยานโจทก์ยังมีเหตุสงสัยว่าจำเลยอาจจะไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อแหวนเพชรกับสร้อยคอทองคำตามฟ้องก็เป็นได้ ต้องยกประโยชน์ความสงสัยให้กับจำเลยรายละเอียดปรากฏตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๐๓๒/๒๕๒๗ หมายเลขแดงที่ ๒๗๙๖/๒๕๒๗คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้ ปัญหาวินิจฉัยมีว่า คำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวยังไม่ชี้ชัดลงไปว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อแหวนเพชรและสร้อยคอทองคำกับโจทก์ดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ ตามฎีกาของโจทก์อ้างว่า คำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าว เหตุที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ก็เนื่องมาจากมีเหตุสงสัยเท่านั้น จึงเป็นการพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๒๗ วรรคสอง และต้องพิจารณาหลักฐานในคดีนี้ประกอบในคดีอาญาดังกล่าวด้วย ศาลฎีกาได้ตรวจดูรายละเอียดของคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าว ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า โจทก์กับสามีน่าจะทราบถึงลายมือชื่อของจำเลย กับตำหนิการเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องที่อ้างว่าเคยเห็นลายมือชื่อจำเลยตอนทำสัญญาเพียงครั้งเดียว และได้วินิจฉัยถึงการทำสัญญาเช่าซื้อว่า โจทก์ไม่น่าจะต้องเดินทางไปทำสัญญาที่บ้านจำเลยเพราะเป็นการเสียเวลาและเสี่ยงภัยเอาแหวนเพชรกับสร้อยคอทองคำไปด้วย จึงเห็นได้ชัดว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์ตลอดจนข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่แน่ชัดแล้ว ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อแหวนเพชรกับสร้อยคอทองคำจากโจทก์ตามฟ้อง หากแต่ว่าเมื่อสรุปศาลชั้นต้นใช้คำว่ามีเหตุสงสัยซึ่งความจริงตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ได้วินิจฉัยโดยตลอดแล้วไม่เชื่อพยานหลักฐานของโจทก์ว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์นั่นเอง หาใช่เหตุสงสัยดังถ้อยคำที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ฉะนั้น ในเมื่อคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาได้ชี้ขาดไปแล้วว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อแหวนเพชรกับสร้อยคอทองคำจากโจทก์ตามฟ้อง ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับประเด็นในคดีนี้ที่ได้กำหนดไว้ในชั้นชี้สองสถานจึงถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ไว้แล้ว ทั้งในคดีนี้ซึ่งคู่ความนำสืบทำนองเดียวกับที่สืบในคดีอาญาดังกล่าว ก็ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อทรัพย์ตามฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน.

Share