คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4208/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของจำเลยให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากโจทก์กระทำผิดวินัยตามระเบียบการพนักงานของจำเลยและปฏิบัติผิดสัญญาจ้างตามหนังสือสัญญาจ้างโดยให้ออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2527 เป็นต้นไป เช่นนี้ เป็นเรื่องลงโทษให้ออกเพราะโจทก์ทำผิดวินัยตามระเบียบการพนักงาน เมื่อจำเลยได้ดำเนินการและออกคำสั่งถูกต้องตามระเบียบก็เป็นการเลิกจ้างที่สมบูรณ์แล้ว หาต้องแสดงเจตนาแก่โจทก์อีกไม่ สภาพของการเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันดังกล่าวซึ่งโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานให้แก่จำเลย และไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างภายหลังจากวันนั้นอีก
มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เป็นกรณีต่อเนื่องจากมาตรา 19 ซึ่งเป็นเรื่องของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากข้อเรียกร้อง โดยให้มีผลผูกพันนายจ้างกับลูกจ้างซึ่งลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องหรือลูกจ้างซึ่งมีส่วนในการเลือกผู้แทนผู้เข้าร่วมในการเจรจาข้อเรียกร้องนั้น และผลผูกพันนี้ หมายถึงผลผูกพันในฐานะเป็นคู่สัญญาและผลผูกพันที่จะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น ฝ่ายใดจะปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นมิได้ข้อตกลงนี้จึงมีผลผูกพันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในขณะที่ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นและมีผลใช้บังคับเท่านั้น ความในมาตรา 20 จึงเป็นเรื่องห้ามนายจ้างมิให้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างเป็นรายคนโดยขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเฉพาะลูกจ้างที่ถูกผูกพันกันอยู่โดยผลของมาตรา 19 เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าเท่านั้น เมื่อระเบียบที่ 28/2522 ของจำเลยเป็นระเบียบที่จำเลยประกาศขึ้นใช้บังคับเอง มิได้เกิดจากข้อเรียกร้องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแม้จะถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 10 แต่ก็มิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากข้อเรียกร้องจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 19 และมาตรา 20 นายจ้างและลูกจ้างมีสิทธิที่จะทำสัญญาจ้างแรงงานกันให้มีผลบังคับแตกต่างไปจากระเบียบที่ 28/2522 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๔ โดยจำเลยให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัท ที.เจ.ซี.เคมี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลย ต่อมาวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๕ จำเลยแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการใหญ่ของจำเลยมีกำหนดระยะเวลา ๕ ปี นับแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๕ ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๐ โดยให้นับอายุการทำงานต่อเมื่อเดือนต่อมาวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๗ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนที่สัญญาจ้างจะครบกำหนดโดยโจทก์ไม่มีความผิด และจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๗ ถึงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๗ เป็นเงิน ๕๑,๘๙๙ บาทค่าชดเชยตามระเบียบของจำเลยจำนวน ๑๓ เดือนเป็นเงิน ๕๗๐,๘๙๕ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๖๐ วัน ตามสัญญาจ้าง เป็นเงิน ๘๗,๘๓๐ บาท และเงินบำเหน็จ เป็นเงิน ๑,๑๔๑,๗๙๐ บาท การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่าโจทก์กระทำการโดยไม่สุจริต เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้นไม่เป็นความจริง แต่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน ๔,๔๗๙,๓๓๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเท่าเดิมโดยให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนละ ๔๓,๙๑๕ บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๒๗ จนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์เข้าทำงาน หากไม่บังคับดังกล่าวก็ให้จำเลยชำระค่าจ้างที่ค้าง ๕๑,๘๙๙ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๘๗,๘๓๐ บาท ค่าชดเชย ๕๗๐,๘๙๕ บาท เงินบำเหน็จเป็นเงิน ๑,๑๔๑,๗๙๐ บาท กับค่าเสียหายเป็นเงิน ๖,๑๖๖,๒๗๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๗,๙๑๒,๖๘๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระภาษีเงินได้ให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ที.เจ.ซี. เคมี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย เมื่อโจทก์ออกจากบริษัทก็ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยโดยโจทก์รับจะปฏิบัติงานตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยโดยเคร่งครัดและได้ปฏิบัติงานกับจำเลยนับแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา เมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยนั้น โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบและสัญญาจ้าง มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตโดยโจทก์ไม่ติดตามควบคุมดูแลโรงสีสหชัยอุดรธานี ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายกว่า ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดในจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการส่งมอบข้าวให้แก่องค์การคลังสินค้าซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์โดยปรากฏว่าได้ใช้จ่ายเกินจำนวนไปเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทและโจทก์มิได้รายงานการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวให้ถูกต้องโจทก์ได้เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการในบริษัทอินเตอร์ อะโกร จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับจำเลย ส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์ในการปฏิบัติงานของโจทก์ สำหรับกรณีที่บริษัทสหมงคลการเกษตร จำกัด ได้ยืมข้าวโพดจากจำเลย โจทก์ได้ทำเอกสารเปลี่ยนจากการยืมเป็นขอซื้อกับทำใบลดหนี้ให้มีผลย้อนหลังเป็นเหตุให้จำเลยเสียประโยชน์เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการกระทำผิดวินัยตามระเบียบการพนักงานชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด พ.ศ. ๒๕๒๔ ข้อ ๑๖ (๑) (๒) (๕) (๖) และข้อ ๑๘.๒ (๑) (๔) และสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ ๒ จำเลยได้มีคำสั่งว่าโจทก์มีความผิดและให้เลิกจ้างโจทก์โดยจำเลยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและเเป็นการเลิกจ้างเป็นธรรมแล้ว จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๒๗และพยายามแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ แต่โจทก์หลีกเลี่ยงตลอดมาโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างหลังจากที่มีคำสั่งเลิกจ้างแล้ว เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะมีความผิดจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ จำนวน ๕๑๖,๗๕๐ บาท และค่าจ้างค้างจ่าย จำนวน ๕๑,๘๙๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยถึงปัญหาค่าจ้างระหว่างวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๗ ถึงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๒๗ ว่า ตามคำสั่งชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัดที่ ๙๔/๒๕๒๗ เรื่องให้นายปราโมทย์ สวิคามิน ออกจากตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ได้กล่าวอ้างว่า โจทก์กระทำความผิดวินัยตามระเบียบการพนักงานของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด พ.ศ. ๒๕๒๔ ข้อ ๑๖(๑) (๒) (๕) (๖) และ ข้อ ๑๘.๒ (๑) (๔) และปฏิบัติผิดสัญญาจ้างตามหนังสือสัญญาจ้างฉบับลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๒๕ ข้อ ๒ ลงโทษให้โจทก์ออกจากตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ตั้งแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไป เช่นนี้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นเรื่องลงโทษให้ออกเพราะโจทก์ทำผิดวินัยตามระเบียบการพนักงานของจำเลย เมื่อจำเลยได้ดำเนินการและออกคำสั่งถูกต้องตามระเบียบก็เป็นการเลิกจ้างที่สมบูรณ์แล้วหากต้องแสดงเจตนาแก่โจทก์อีกไม่ คำสั่งของจำเลยที่ให้เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๒๗ จึงทำให้สภาพของการเป็นลูกจ้างของโจทก์ย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงซึ่งโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานให้แก่จำเลยและจำเลยก็ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาหรือให้คุณให้โทษแก่โจทก์ได้อีกต่อไปเช่นเดียวกันทั้งปรากฏว่า ตั้งแต่วันที่จำเลยกำหนดให้เป็นวันเลิกจ้างเป็นต้นมา โจทก์ก็มิได้ปฏิบัติงานให้แก่จำเลยแต่อย่างใด จากเหตุผลดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างระหว่างวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๗ ถึงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๗ จำนวน ๕๑,๘๙๙ บาท จากจำเลย
สำหรับปัญหาเงินบำเหน็จและค่าชดเชยนั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีระเบียบที่ ๒๘/๒๕๒๒ เรื่องการจ่ายเงินชดเชย ออกมาใช้บังคับเมื่อ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๒๒ กำหนดให้จ่ายค่าชดเชยให้พนักงานเมื่อออกจากงานและให้หมายความรวมถึงเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยด้วยคำจำกัดความของคำว่า การออกจากงาน หมายถึงการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ตาย ลาออกออกตามสัญญาจ้างออกตามระเบียบว่าด้วยการกำหนดอายุพนักงาน เว้นแต่การถูกไล่ออก กับความในข้อ ๕ กำหนดว่าในกรณีที่พนักงานถูกไล่ออกเพราะกระทำผิดวินัยตามระเบียบของชุมนุมสหกรณ์ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามระเบียบนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าระเบียบและข้อบังคับดังกล่าวข้างต้นเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ใช้บังคับระหว่างจำเลยผู้เป็นนายจ้างกับลูกจ้างของจำเลยเป็นกรณีทั่วไป แต่สำหรับกรณีของโจทก์นี้ได้ความว่า เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๒๕ โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจ้างกันไว้ ตามเอกสารหมาย จ.๙ โดยมีความในข้อ ๒ กำหนดว่า “ลูกจ้าง (โจทก์) สัญญาว่าจะทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายจ้าง (จำเลย) อย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เกิดผลดีแก่การดำเนินธุรกิจของนายจ้างตลอดจนจะปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนข้อบังคับ คำสั่งของนายจ้าง รวมทั้งมติของคณะกรรมการดำเนินการผู้แทนนายจ้างทั้งต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รักษาผลประโยชน์และทรัพย์สินของนายจ้างดังเช่นวิญญูชนถึงปฏิบัติต่อผลประโยชน์และทรัพย์สินของตนเอง หากลูกจ้างกระทำการส่อไปในทางทุจริต ทุจริต จงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กิจการของนายจ้าง ให้นายจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาจ้างได้ทันทีและให้ถือว่าเป็นการออกจากงานโดยมีความผิด ลูกจ้างตกลงว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จหรือเงินชดเชยอื่นใดพึงมีให้แก่ลูกจ้าง”
จากข้อสัญญานี้จึงเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยที่มีเจตนามิให้นำเอาระเบียบที่ ๒๘/๒๕๒๒ เรื่อง การจ่ายเงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด มาใช้บังคับกับกรณีของโจทก์ ปัญหาจึงมีว่า ข้อตกลงตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยตามเอกสารหมาย จ.๙ ข้อ ๒ ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๐ หรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า มาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นกรณีต่อเนื่องมาจากมาตรา ๑๙ ซึ่งเป็นเรื่องของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากข้อเรียกร้องโดยให้มีผลผูกพันนายจ้างกับลูกจ้างซึ่งลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องหรือลูกจ้างซึ่งมีส่ยในการเลือกผู้แทนผู้เข้าร่วมในการเจรจาข้อเรียกร้องนั้นและผลผูกพันนี้หมายถึงผลผูกพันในฐานะเป็นคู่สัญญาและผลผูกพันที่จะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น ฝ่ายใดจะปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นมิได้ ข้อตกลงนี้จึงมีผลผูกพันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในขณะที่ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้เท่านั้น ดังนั้น ความในมาตรา ๒๐ จึงเป็นเรื่องห้ามนายจ้างมิให้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างเป็นรายคนโดยขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเฉพาะลูกจ้างที่ถูกผูกพันกันอยู่โดยผลของมาตรา ๑๙ เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าเท่านั้น เมื่อปรากฏว่า ระเบียบที่ ๒๘/๒๕๒๒ ของจำเลย เป็นระเบียบที่จำเลยประกาศขึ้นใช้บังคับเองโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี มิได้เกิดจากข้อเรียกร้องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้จะถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ แต่ก็มิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากข้อเรียกร้อง จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ นายจ้างและลูกจ้างจึงมีสิทธิที่จะทำสัญญาจ้างแรงงานกันให้มีผลบังคับแตกต่างไปจากระเบียบที่ ๒๘/๒๕๒๒ ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจ้างแรงงานกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.๙ ข้อ ๒ ข้อตกลงนี้จึงใช้บังคับระหว่างโจทก์จำเลยได้ หาเป็นการขัดต่อบทบัญญัติในมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ไม่และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากเช่นนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินชดเชยอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอเรียกค่าจ้างค้างจ่ายและเงินบำเหน็จด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share