คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 วรรคหนึ่งบัญญัติให้ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณีคำว่า ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นย่อมหมายถึง ผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นตามกฎหมายเช่น กรรมการผู้จัดการของบริษัท
พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ก. กรรมการคนหนึ่งของบริษัทจำเลยในฐานะตัวแทนบริษัทจำเลย โดยมิได้สอบสวน อ. กรรมการผู้จัดการและผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยและตามบันทึกคำให้การของ ก. มีข้อความว่า ก. ไม่ขอให้การชั้นสอบสวนจะไปให้การในชั้นศาล และยังให้การว่า ก. เป็นกรรมการบริษัทจำเลย แต่ ก. ไม่มีอำนาจลงชื่อในการทำนิติกรรมของบริษัทจำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยมอบอำนาจให้ ก. กระทำการแทนบริษัทจำเลยได้ ดังนี้ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน ก. ในฐานะตัวแทนบริษัทจำเลยเกี่ยวกับคดีอาญาคดีนี้ กรณีย่อมถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนบริษัทจำเลยโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลยเป็นคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 มาตรา 4, 17, 18, 44, 70, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า บริษัทจำเลยมีนายอารีย์ ชุ้นฟุ้ง เป็นกรรมการผู้จัดการและเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน ส่วนนายกิมไล้ สิริวเสรี เป็นเพียงกรรมการคนหนึ่งมิใช่กรรมการผู้จัดการหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนเรียกนายกิมไล้ มาสอบคำให้การแทนบริษัทจำเลย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณีซึ่งความหมายของคำว่า ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นย่อมหมายถึง ผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นตามกฎหมาย เช่น กรรมการผู้จัดการของบริษัท เมื่อปรากฏว่าในการสอบสวนคดีนี้ พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนนายกิมไล้กรรมการคนหนึ่งของบริษัทจำเลยในฐานะตัวแทนบริษัทจำเลยโดยมิได้สอบสวนนายอารีย์ กรรมการผู้จัดการและผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยและตามบันทึกคำให้การของนายกิมไล้ดังกล่าวมีข้อความว่า นายกิมไล้ไม่ขอให้การชั้นสอบสวนจะไปให้การในชั้นศาล และยังให้การว่า นายกิมไล้เป็นกรรมการบริษัทจำเลยไม่มีอำนาจลงชื่อในการทำนิติกรรมของบริษัทจำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่า บริษัทจำเลยมอบอำนาจให้นายกิมไล้กระทำการแทนบริษัทจำเลยได้ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนนายกิมไล้ในฐานะตัวแทนบริษัทจำเลยเกี่ยวกับคดีอาญาคดีนี้ จึงยังถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนจำเลยโดยชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

พิพากษายืน

Share