คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 420/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้นที่ให้การต่อสู้ว่าฟ้องเคลือบคลุมโดยระบุเจาะจงลงไปด้วยว่าเคลือบคลุมเฉพาะการคำนวณดอกเบี้ยของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสามฎีกาไปถึงฟ้องข้ออื่นว่าเคลือบคลุมแม้ศาลล่างจะวินิจฉัยให้ ก็เป็นเรื่องนอกประเด็นต่อสู้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์คำนวณดอกเบี้ยกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งแนบสำเนาภาพถ่ายสัญญาดังกล่าวและบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ประกอบไว้ท้ายฟ้อง ส่วนการคำนวณดอกเบี้ยกับจำเลยที่ 2 โจทก์ก็บรรยายว่าเป็นหนี้ตามตั๋วแลกเงินของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ต้องชำระแทนไปโดยหยิบยกขึ้นแสดงรายละเอียดเป็นรายฉบับว่ามีหนี้จำนวนเท่าใด คิดดอกเบี้ยอัตราเท่าใด ในช่วงเวลาไหน เป็นการบรรยายฟ้องถึงการคำนวณดอกเบี้ยของโจทก์โดยแจ้งชัด ฟ้องโจทก์ส่วนนี้ไม่เคลือบคลุม เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ครบกำหนดแล้ว มีการปฏิบัติตามสัญญาต่อมาอีก สัญญาดังกล่าวจึงยังคงใช้บังคับระหว่างกันโดยไม่มีกำหนดคำขอของจำเลยที่ 2ที่ขอให้โจทก์รับรองตั๋วแลกเงินก็ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เท่ากับโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสองแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงสิ้นสุดลง เมื่อจำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันครั้งสุดท้ายวันที่5 สิงหาคม 2524 หลังจากนั้นไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีก ต่อมาโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าวจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วไม่ชำระหนี้ถือได้ว่าผิดนัด และสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินน้อยกว่าจำนวนที่จำเลยจะต้องรับผิด แต่โจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยรับผิดเกินกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน 2,586,167.72 บาท จำเลยที่ 2 ขอให้โจทก์รับรองตั๋วแลกเงินของจำเลยที่ 2 และชำระเงินให้แก่ผู้ทรงตั๋วดังกล่าวแทนแล้วจำเลยที่ 2 จะชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์ได้ชำระเงินตามตั๋วแลกเงินของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับรองไปรวม11 ฉบับ เป็นเงิน 440,982.89 บาท จำเลยที่ 2 ไม่ชำระคืนให้โจทก์เมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วเป็นเงิน 538,286.95 บาท จำเลยที่ 3 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจำนองแก่โจทก์ เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1ในวงเงิน 2,000,000 บาท และค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 และของตนเองในวงเงิน 600,000 บาท จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1และที่ 2 ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 3 ไถ่ถอนจำนอง และให้จำเลยที่ 1และที่ 3 ร่วมกันรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,586,167.72 บาทพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 538,286.95 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ หากยังไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ผิดสัญญา โจทก์ให้สิทธิจำเลยทั้งสองเบิกเงินเกินวงเงินที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่กลับปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยที่ 1 และไม่รับรองตั๋วแลกเงินของจำเลยที่ 2ทำให้จำเลยที่ 2 เสียหาย โจทก์หลอกลวงให้จำเลยที่ 3 ลงชื่อในกระดาษเปล่าแล้วนำไปพิมพ์ข้อความว่า จำเลยที่ 3 ถอนการค้ำประกันโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อกลั่นแกล้งจำเลย จำนวนหนี้และดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 3 ขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโดยให้นำดอกเบี้ยทบต้นที่คิดเกินในอัตราร้อยละ 3 ของหนี้รับรองตั๋วแลกเงินมาหักออกจากจำนวนเงิน 2,015,781.80 บาทก่อน เมื่อได้ยอดเงินเท่าใดให้ถือเป็นจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1ต้องชำระพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 538,119.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวและไถ่ถอนจำนองกับโจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้หากไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินอื่นจนครบ โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระหนี้จำนวน 2,153,193.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2524เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า
1. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่
2. โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
3. จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์เพียงใด
ตามปัญหาข้อ 1 พิเคราะห์คำให้การของจำเลยทั้งสามตลอดแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เท่านั้นที่ต่อสู้ว่าฟ้องเคลือบคลุมโดยระบุเจาะจงลงไปด้วยว่าเคลือบคลุมเฉพาะการคำนวณดอกเบี้ยของโจทก์ข้อเดียว ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสามฎีกาไปถึงฟ้องข้ออื่นว่าเคลือบคลุมแม้ศาลล่างจะวินิจฉัยมาแล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องนอกประเด็นที่ต่อสู้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ สำหรับเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยนี้ปรากฏในฟ้องแล้วว่ามีหลักในการคำนวณกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งแนบสำเนาภาพถ่ายสัญญาดังกล่าวและบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ประกอบไว้ท้ายฟ้อง ส่วนการคำนวณกับจำเลยที่ 2 โจทก์ก็ได้บรรยายว่าเป็นหนี้ตามตั๋วแลกเงินของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ต้องชำระแทนไปโดยหยิบยกขึ้นแสดงโดยละเอียดเป็นรายฉบับว่า มีหนี้จำนวนเท่าใด คิดดอกเบี้ยอัตราเท่าใด ในช่วงเวลาไหนดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการคำนวณดอกเบี้ยของโจทก์ไว้โดยแจ้งชัดแล้ว ฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม
ตามปัญหาข้อ 2 ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์จำเลยตรงกันว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ ครบกำหนดวันที่ 25 มีนาคม 2524 ตามเอกสารหมาย จ.6 และมีการปฏิบัติตามสัญญาต่อมาอีก สัญญาดังกล่าวจึงยังคงบังคับใช้ระหว่างกันไป โดยไม่มีกำหนด ส่วนคำขอของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้โจทก์รับรองตั๋วแลกเงินก็ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดเช่นกันตามเอกสารหมาย จ.8 ดังนั้นเมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระหนี้แล้วตามเอกสารหมาย จ.14,จ.16, จ.17 ก็เท่ากับโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วสัญญาดังกล่าวจึงสิ้นสุดลง เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์จึงผิดสัญญา จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.13จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยทั้งสองด้วย ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่านายวีระพันธุ์ กุสุมภ์ กลั่นแกล้งโดยทำหลักฐานเท็จว่า จำเลยที่ 3ขอถอนหลักประกัน เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องคดีนี้นั้น จำเลยมีจำเลยที่ 1ปากเดียวเบิกความอย่างลอย ๆ เท่านั้น จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานโจทก์จะรับฟังตามฎีกาของจำเลยหาได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามได้
ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์เพียงใดนั้น เห็นว่าตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.7 จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายวันที่ 5 สิงหาคม 2524 หลังจากนั้นไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกจนกระทั่งวันที่ 30 ธันวาคม 2524 จำเลยที่ 3 ขอถอนการค้ำประกัน โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าวและจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วในวันที่ 7 มกราคม 2525 ตามหนังสือบอกกล่าวและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.14 และจ. 15 การที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด และสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวคือวันที่ 22 มกราคม 2525 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน2,153,193.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีนับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2524 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้นจึงไม่ถูกต้อง แต่โจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดเกินกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.7 เพียงสิ้นวันที่ 31 มีนาคม2524 เป็นเงิน 2,155,381.80 บาท แต่อ้างมาในฟ้องเป็นจำนวนถึง2,586,127.72 บาท ถือเอาแน่ไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เพียงใด ทั้งยังมีหนี้เกี่ยวกับตั๋วแลกเงินที่โจทก์ใช้แทนจำเลยที่ 2รวมอยู่ด้วย ต้องหักออกเสียก่อนนั้น เห็นว่าหนี้ตามฟ้องโจทก์คิดถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2525 ไม่ใช่คิดเพียงวันที่ 31 มีนาคม 2524ตามเอกสารหมาย จ.7 ยอดหนี้จึงมากกว่ากัน ไม่ถึงกับถือเป็นยอดหนี้ที่ไม่แน่นอนดังอ้าง ส่วนที่จะให้หักหนี้ตั๋วแลกเงินที่โจทก์ใช้แทนจำเลยที่ 2 ออกก่อนนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับโจทก์ไว้ตามเอกสารหมาย จ.20 ยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ได้ในกรณีที่โจทก์ต้องชำระเงินตามตั๋วแลกเงินของจำเลยที่ 2 แทน ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ตามตั๋วแลกเงินมาคิดเช่นเดียวกับหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ได้ ไม่ต้องหักออกก่อนดังจำเลยที่ 1อ้าง ฉะนั้นที่จำเลยที่ 1 ฎีกาด้วยว่า โจทก์นำสืบไม่ออกว่าหนี้จำนวนใดเป็นหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้จำนวนใด เป็นหนี้ตั๋วแลกเงิน ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีหนี้ในเรื่องเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์เลย และจำเลยไม่มีภาระในการนำสืบหักล้างบัญชีกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.7 จึงฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าหนี้ตามตั๋วแลกเงินจำนวน 11 ฉบับตามฟ้องระงับแล้วเพราะพยานโจทก์ว่าเมื่อโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2แล้ว ก็จะนำหนี้นั้นเข้าบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.7 เพื่อหักทอนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพยานโจทก์มีเพียง 2 ปากคือนายกานต์ คำปาน กับนายวีระพันธ์ กุสุมภ์ สำหรับนายกานต์ยืนยันว่าไม่ได้นำหนี้ตามตั๋วแลกเงิน 11 ฉบับ ที่ฟ้องไปหักบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 เพราะยอดหนี้เต็มแล้ว ส่วนนายวีระพันธ์ก็ยืนยันว่าหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.7 ไม่ได้รวมหนี้ตั๋วแลกเงินอีก 11 ฉบับ ที่โจทก์นำมาฟ้องด้วย นอกจากนี้เมื่อพิเคราะห์บัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.7 แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการนำหนี้ตามตั๋วแลกเงิน จำนวน 11 ฉบับที่โจทก์ฟ้องมารวมคำนวณในบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวแต่อย่างใด ฎีกาจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้นจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยทั้งสองตามสัญญาดังกล่าวด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share