คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5478/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินอันเดียวกันกับที่รับฝากผู้รับฝากมีสิทธิจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ เงินที่ฝากจึงตกเป็นของผู้รับฝากซึ่งคงมีแต่หน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวน เมื่อผู้ฝากฝากเงินไว้กับผู้รับฝากและตกลงมอบเงินฝากพร้อมสมุดบัญชีฝากประจำไว้เพื่อเป็นประกันหนี้ที่จะพึงมีต่อผู้รับฝาก แล้วยินยอมให้นำเงินจากบัญชีไปชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าว เป็นเรื่องความตกลงในการฝากเงินเพื่อเป็นประกัน หาทำให้ตัวเงินตามจำนวนในบัญชีเงินฝากยังคงเป็นของผู้ฝาก อันผู้รับฝากได้ยึดไว้เป็นประกันการชำระหนี้ไม่ จึงไม่เป็นการจำนำเงินฝาก ส่วนใบรับฝากประจำเป็นเพียงหลักฐานการรับฝากและถอนเงินที่ผู้รับฝากออกให้ผู้ฝากยึดถือไว้ เพื่อความสะดวกในการฝากและถอนเงินในบัญชีฝากประจำของผู้ฝากไม่อยู่ในลักษณะของสิทธิซึ่งมีตราสารการมอบใบฝากประจำให้ผู้รับฝากยึดถือไว้เป็นประกันหนี้จึงมิใช่เป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสาร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 750 เมื่อผู้รับฝากเงินมิใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ (จำนำ) ใช้สิทธิหักเงินของผู้ฝากไปชำระให้แก่ผู้ว่าจ้างผู้ฝาก หลังจากที่ได้รับหมายอายัดของศาล จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 311 วรรคสาม ผู้รับฝากจะอ้าง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 และการกระทำไปโดยสุจริตตามประเพณีปฏิบัติของธนาคาร หรือเป็นการอายัดซ้ำกันมาเป็นเหตุไม่ต้องนำเงินตามจำนวนที่อายัดไปชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์และขอให้อายัดเงินค้ำประกันสัญญาก่อสร้างโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดเงินค้ำประกันสัญญาก่อสร้างจำนวน 200,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากประจำไว้กับผู้ร้อง โดยมอบใบรับฝากประจำและเงินฝากในบัญชีไว้เป็นหลักประกันหนี้ยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินตามใบรับฝากประจำรวมทั้งดอกเบี้ยชำระหนี้สินของจำเลยที่ 1 เป็นการจำนำสิทธิตามตราสาร ผู้ร้องจึงไม่สามารถส่งมอบเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ฝากเงินไว้กับผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินอันเดียวกันกับที่รับฝากผู้รับฝากมีสิทธิจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ เงินที่ฝากจึงตกเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องคงมีแต่หน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวน การที่จำเลยที่ 1 ตกลงมอบเงินฝากพร้อมสมุดบัญชีฝากประจำไว้แก่ผู้ร้องก็เพียงเพื่อเป็นประกันหนี้ที่จะพึงมีต่อผู้ร้อง แม้จะตกลงยินยอมให้ผู้ร้องนำเงินจากบัญชีมาชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าว ก็เป็นเรื่องความตกลงในการฝากเงินเพื่อเป็นประกันหาทำให้ตัวเงินตามจำนวนในบัญชีเงินฝากยังคงเป็นของจำเลยที่ 1อันผู้ร้องได้ยึดไว้เป็นประกันการชำระหนี้ไม่ และการที่จำเลยที่ 1มอบใบรับฝากประจำให้ผู้ร้องยึดถือไว้เป็นประกันหนี้ ก็มิใช่เป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสาร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 750เพราะใบรับฝากประจำเป็นเพียงหลักฐานการรับฝากและถอนเงินที่ผู้ร้องออกให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้เพื่อความสะดวกในการฝากและถอนเงินในบัญชีฝากประจำของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่อยู่ในลักษณะของสิทธิซึ่งมีตราสารและวินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 1 จะมีข้อตกลงกับผู้ร้องก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีหมายอายัด โดยยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินตามใบรับฝากประจำรวมทั้งดอกเบี้ยชำระหนี้สินของจำเลยที่ 1ก็ตาม เมื่อผู้ร้องมิใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ (จำนำ) ของจำเลยที่ 1ได้ใช้สิทธิหักเงินไปชำระให้แก่ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเรียน หลังจากที่ได้รับหมายอายัดของศาลชั้นต้นแล้ว จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดทรัพย์ของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 311 วรรคสามผู้ร้องจะอ้างมาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกระทำไปโดยสุจริตตามประเพณีของธนาคาร หรือเป็นการอายัดซ้ำกันขึ้นมาเป็นเหตุไม่ต้องนำเงินตามจำนวนที่อายัดไปชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share