แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 เห็นได้ชัดว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ เมื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งจำเลยเป็นบรรณาธิการลงข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยย่อมมีความผิดในฐานะเป็นตัวการ จะอ้างว่าไม่อยู่ ไม่รู้เห็น ปัดความรับผิดไปให้รองบรรณาธิการนั้นหาชอบไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาเทศบาล จำเลยที่ 2เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์และหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พิทักษ์ชนจำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พิทักษ์ชน จำเลยที่ 4 เป็นผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์พิทักษ์ชน หนังสือพิมพ์พิทักษ์ชนมีสำนักงานตั้งอยู่ที่448/2-3 ถนนราชดำเนิน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช พิมพ์จำหน่ายทั่วราชอาณาจักร จำเลยที่ 1 ได้กล่าวข้อความอันเป็นเท็จใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ต่อหน้าจำเลยที่ 2 กับพวกซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ว่า ตามข่าวที่พิทักษ์ชนลงข่าวไปว่านายเชวงศักดิ์และนายจรูญขายตัวนั้นเป็นความจริงโดยนายจรูญได้รับเงินไปสองหมื่นบาท ฯลฯ ทั้งนี้ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตกลงกันให้จำเลยที่ 2 นำข้อความที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ดังกล่าวไปลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ ต่อมาจำเลยทั้งสี่นำข้อความดังกล่าวไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์พิทักษ์ชนฉบับที่ 3 เล่มฉบับที่ 86 วันที่ 10 -19 กุมภาพันธ์ 2519 แล้วร่วมกันนำออกโฆษณาเผยแพร่ จำหน่าย จ่ายแจกให้ประชาชนทั่วราชอาณาจักรได้อ่าน ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังจากประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328,83 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ระหว่างสืบพยานจำเลยโจทก์ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 83 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 83 จำคุกจำเลยที่ 2 หกเดือน ปรับสองพันบาท ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 4 ปรับจำเลยที่ 3 หนึ่งพันบาท รอการลงโทษจำเลยที่ 2 สองปี
จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา ศาลชั้นต้นรับฎีกาเฉพาะข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยที่ 3 ไม่ควรต้องรับผิดเพราะขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พิทักษ์ชนไม่อยู่ไปธุระที่กรุงเทพมหานครเสีย มีรองบรรณาธิการอยู่ ควรเป็นความผิดของรองบรรณาธิการนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 บัญญัติว่า “เมื่อมีความผิดนอกจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นด้วยการโฆษณาสิ่งพิมพ์นอกจากหนังสือพิมพ์ผู้ประพันธ์ซึ่งตั้งใจให้โฆษณาบทประพันธ์นั้นต้องรับผิดเป็นตัวการ ถ้าผู้ประพันธ์ไม่ต้องรับผิดหรือไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการ” วรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย” เห็นได้ชัดว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ เมื่อหนังสือพิมพ์พิทักษ์ชนซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการลงข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยที่ 3 ย่อมมีความผิดในฐานะเป็นตัวการจะอ้างว่าไม่อยู่ ไม่รู้เห็น ปัดความรับผิดไปให้รองบรรณาธิการนั้นหาชอบไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน