คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อุทธรณ์คำสั่งที่ศาลไม่รับอุทธรณ์ ต้องยื่นภายใน 10 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 หากยื่นเกินกำหนด แต่ศาลอุทธรณ์ก็สั่งให้รับอุทธรณ์ไว้พิจารณา ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกอุทธรณ์นั้นในภายหลังได้ ส่วนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 236 บัญญัติว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ให้รับหรือปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์เป็นที่สุดนั้น หมายความเพียงว่าจะฎีกาต่อไปไม่ได้เท่านั้น มิได้หมายความเลยไปถึงว่าแม้คำสั่งที่สั่งให้รับอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์จะแก้ไขอะไรไม่ได้เสียเลย.

ย่อยาว

ศาลพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย บริษัทเคี่ยนหงวน(ประเทศไทย)จำกัด ขอรับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นควรให้ได้รับชำระหนี้ ศาลชั้นต้นอนุมัติตามความเห็นนั้นเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๐๖ จำเลยยื่นอุทธรณ์วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๖ (ฟังคำสั่ง ๑๕ สิงหาคม ๒๕๐๖ วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๐๖ เป็นวันอาทิตย์) ศาลชั้นต้นสั่งว่ายื่นเกิน ๑๔ วัน จึงให้ยก ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา ๑๔๖
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๐๖
ศาลอุทธรณ์สั่งให้รับอุทธรณ์
เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า อุทธรณ์คำสั่งมิได้ยื่นภายใน ๑๐ วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๔ จึงให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ ต้องยื่นภายใน ๑๐ วันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๔ จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๙ มาใช้มิได้ และแม้ศาลอุทธรณ์จะสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้แล้ว เมื่อปรากฏว่า คำร้องอุทธรณ์คำสั่งยื่นเกินกำหนด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกอุทธรณ์นั้นเสียได้ ส่วนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๓๖ บัญญัติว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุดนั้น หมายความเพียงว่า จะฎีกาต่อไปไม่ได้เท่านั้น มิได้หมายความเลยไปว่า ถึงแม้คำสั่งที่สั่งให้รับอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์จะแก้ไขอะไรไม่ได้เสียเลย
พิพากษายืน.

Share