คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4198/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าป้ายของโรงเรียนเอกชนใดจะได้รับยกเว้นภาษีป้ายตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 8 (9) หรือไม่ ต้องพิจารณาประกอบกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 28 และมาตรา 127 (1) ที่กำหนดถึงการใช้ชื่อของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบ ซึ่งก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโรงเรียนเอกชนดังกล่าว เดิมมี พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มาตรา 54 บัญญัติให้ผู้รับใบอนุญาตจัดมีป้ายแสดงชื่อโรงเรียนเป็นอักษรไทยขนาดใหญ่ ซึ่งกฎหมายโรงเรียนเอกชนฉบับเดิมและฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบันกำหนดไว้ชัดเจนว่า ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหมายความถึงป้ายแสดงชื่อของโรงเรียนเท่านั้น โดย พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฉบับใหม่มิได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เรื่องป้ายชื่อของโรงเรียนเอกชนตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฉบับเดิมแต่อย่างใด เพียงแต่เพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับตัวอักษรที่แสดงอยู่บนป้ายชื่อของโรงเรียน ดังนั้น ป้ายของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบที่จะได้รับยกเว้นภาษีป้ายตามมาตรา 8 (9) จึงต้องเป็นป้ายแสดงชื่อของโรงเรียนเป็นอักษรไทยขนาดใหญ่พอสมควร และป้ายนั้นติดไว้ที่บริเวณโรงเรียนเอกชนที่ซึ่งเห็นได้ง่าย โดยต้องมีคำว่า “โรงเรียน” ประกอบชื่อด้วย เมื่อป้ายพิพาทของโจทก์ทั้งสองป้ายมิได้มีชื่อโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่มีอักษรต่างประเทศปะปนอยู่ และมีข้อความอื่นแสดงหลักสูตรที่เปิดสอนพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งมีลักษณะเป็นการโฆษณากิจการเพื่อหารายได้ แม้จะติดไว้บริเวณโรงเรียน ย่อมไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 8 (9) พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้แก้ไขคำวินิจฉัยแบบแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ จบ 52005/1299 ลงวันที่ 23 เมษายน 2556 เป็นว่าป้ายของโรงเรียนโจทก์ตามฟ้องได้รับการยกเว้นภาษีป้ายตามกฎหมาย กับให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีป้าย 680 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมิน (ภ.ป.3) ที่ 161/2556 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามแบบแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ป.5) ที่ จบ 52005/1299 ลงวันที่ 23 เมษายน 2556 กับให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีป้าย 680 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชนตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 ชื่อว่า “โรงเรียนพัฒนวิชญ์” ตั้งอยู่เลขที่ 156 ถนนศรีจันทร์ ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ตามใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน โจทก์เป็นเจ้าของป้ายของโรงเรียนดังกล่าวจำนวน 2 ป้าย ซึ่งติดตั้งไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป. 1) ประจำปีภาษี 2556 ต่อจำเลยแสดงรายละเอียดประเภทป้าย ขนาดป้าย เนื้อที่ป้าย จำนวนป้าย ข้อความหรือภาพและเครื่องหมายที่ปรากฏในป้ายไว้ ดังนี้ (1) ป้ายประเภทที่ (1) ขนาดป้ายกว้าง 70 เซนติเมตร ยาว 90 เซนติเมตร เนื้อที่ป้าย 6,300 ตารางเซนติเมตร จำนวน 1 ป้าย มีข้อความว่า ยู-คิด วิทย์ ม. ต้น คณิต ป.1-ม.3 อังกฤษ ป.1-ม.6 โทร.087-0155388 087-1276193 (2) ป้ายประเภทที่ (3) ขนาดป้ายกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 100 เซนติเมตร เนื้อที่ป้าย 6,000 ตารางเซนติเมตร จำนวน 1 ป้าย มีข้อความว่า โรงเรียนกวดวิชาพัฒนวิชญ์ U-KID คณิต ป.1-ม.3 อังกฤษ ป.1-ม.6 ตามแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินป้ายลำดับที่ 1 เป็นป้ายที่มีอักษรไทยคิดอัตรา 3 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร เป็นเงินค่าภาษี 200 บาท ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 (1) ป้ายลำดับที่ 2 เป็นป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศคิดอัตรา 40 บาทต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร เป็นเงินค่าภาษี 480 บาท ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 (3) (ข) รวมเป็นเงินภาษีป้าย 680 บาท ตามหนังสือแจ้งการประเมินโจทก์ชำระค่าภาษีป้ายแก่จำเลยแล้ว โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินตามแบบอุทธรณ์ภาษีป้าย ต่อมานายกเทศมนตรีเมืองจันทบุรีแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบตามแบบแจ้งคำวินิจฉัย โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงฟ้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า ป้ายพิพาทของโจทก์ทั้งสองป้ายได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 8 (9) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 28 และ 127 (1) กำหนดให้ชื่อของโรงเรียนต้องใช้อักษรไทยขนาดใหญ่พอสมควรติดไว้ที่บริเวณโรงเรียน ณ ที่ซึ่งเห็นได้ง่าย โดยต้องมีคำว่า “โรงเรียน” ประกอบชื่อด้วย ในกรณีที่มีอักษรต่างประเทศกำกับต้องไม่มีขนาดใหญ่กว่าอักษรไทย ถือเป็นป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 8 (9) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 ป้ายพิพาทมิใช่ป้ายที่มีข้อความแสดงชื่อโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นป้ายชื่อโรงเรียนปนข้อความอื่นและโจทก์ใช้ป้ายทั้งสองโฆษณาการค้าเพื่อหารายได้ ไม่อาจถือเป็นป้ายของโรงเรียนเอกชนที่ได้รับยกเว้นภาษีป้ายนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ปัญหานี้มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 บัญญัติว่า “เจ้าของป้ายไม่ต้องเสียภาษีภาษีป้ายสำหรับป้ายดังต่อไปนี้..(9) ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่แสดงไว้ ณ อาคาร หรือบริเวณของโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น” การที่จะพิจารณาว่าป้ายของโรงเรียนเอกชนใดจะได้รับยกเว้นภาษีป้ายตามมาตรา 8 (9) หรือไม่ ต้องพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวประกอบกับพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ที่กำหนดถึงการใช้ชื่อของโรงเรียนเอกชนในระบบไว้ในมาตรา 28 ว่า “ชื่อของโรงเรียนในระบบต้องใช้อักษรไทยขนาดใหญ่พอสมควรติดไว้ที่บริเวณโรงเรียนในระบบ ณ ที่ซึ่งเห็นได้ง่าย โดยต้องมีคำว่า “โรงเรียน” ประกอบชื่อด้วย ในกรณีที่มีอักษรต่างประเทศกำกับ ต้องไม่มีขนาดใหญ่กว่าอักษรไทย…” และมาตรา 127 (1) กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา 28 มาใช้บังคับแก่โรงเรียนนอกระบบโดยอนุโลม ซึ่งก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโรงเรียนเอกชนฉบับดังกล่าว เดิมมีพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มาตรา 46 บัญญัติว่า “ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีป้ายแสดงชื่อโรงเรียนเป็นอักษรไทยขนาดใหญ่ พอเห็นได้ในระยะอันสมควรติดไว้ที่โรงเรียนหรือบริเวณโรงเรียน ณ ที่ซึ่งเห็นได้ง่าย” อันแสดงให้เห็นว่ากฎหมายโรงเรียนเอกชนทั้งฉบับเดิมและฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบันกำหนดไว้ชัดเจนว่า ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหมายความถึงป้ายแสดงชื่อของโรงเรียนเท่านั้น โดยพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนฉบับใหม่มิได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เรื่องป้ายชื่อของโรงเรียนเอกชนตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนฉบับเดิมแต่อย่างใด เพียงแต่เพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับตัวอักษรที่แสดงอยู่บนป้ายชื่อของโรงเรียน ดังนั้น ป้ายของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบที่จะได้รับยกเว้นภาษีป้ายตามมาตรา 8 (9) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 จึงต้องเป็นป้ายแสดงชื่อของโรงเรียนเป็นอักษรไทยขนาดใหญ่พอสมควร และป้ายนั้นติดไว้ที่บริเวณโรงเรียนเอกชนที่ซึ่งเห็นได้ง่าย โดยต้องมีคำว่า โรงเรียน ประกอบชื่อด้วย เมื่อป้ายพิพาทของโจทก์ทั้งสองป้ายมิได้มีชื่อโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่มีอักษรภาษาต่างประเทศปะปนอยู่ และมีข้อความอื่นแสดงหลักสูตรที่เปิดสอนพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งมีลักษณะเป็นการโฆษณากิจการเพื่อหารายได้ แม้จะติดไว้บริเวณโรงเรียน ย่อมไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 8 (9) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของป้ายจึงมีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะมิทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายกเทศมนตรีของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share