คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4198/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยในมูลหนี้ละเมิดโดยอาศัยอำนาจกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท ไม่ได้ฟ้องบังคับตามสัญญาเช่า แม้คำฟ้องระบุว่าเดิมจำเลยเป็นผู้เช่าบ้านพิพาทมาก่อน แต่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว ก็เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในบ้านพิพาทอีกต่อไปเท่านั้น การที่จำเลยคงอยู่ในบ้านพิพาทเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แม้สำเนาโฉนดเป็นสำเนาเอกสาร แต่ต้นฉบับดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของทางราชการ ศาลย่อมรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 วรรคสอง เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด ผู้ให้เช่าไม่ยอมต่อสัญญาให้โดยบอกว่าจะขายหรือขายที่ดินและบ้านพิพาทแล้ว ต่อมาในระยะต่อเนื่องกัน ผู้ซื้อไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในบ้านที่พิพาทได้ฟ้องขับไล่จำเลย แม้จำเลยจะอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทต่อมาหลังจากครบกำหนดสัญญาแล้ว ก็ถือไม่ได้ว่าได้ทำสัญญาใหม่โดยไม่มีกำหนดเวลา เพราะผู้ให้เช่าได้ทักท้วงแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570สัญญาเช่าระงับ โจทก์ผู้รับโอนบ้านและที่ดินพิพาทไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาเช่าอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านพิพาทของโจทก์พร้อมทั้งส่งมอบบ้านดังกล่าวคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 180,000 บาท ให้โจทก์ และค่าเสียหายเดือนละ15,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากบ้านพิพาท จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นคนต่างด้าวไม่มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับเจ้าของเดิมใช้บังคับไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยอยู่ในบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าที่ทำกับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลมุนนาตำบีไซบูมาริกัน หรือเอ็ม.ที.เอส.มาริกัน เมื่อครบกำหนดแล้ว ผู้ให้เช่ายอมให้จำเลยเช่าต่อมาโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาเช่าสัญญาเช่าจึงยังไม่สิ้นสุดลง โจทก์บอกเลิกการเช่ายังไม่ชอบและจำเลยยังไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าว ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดแห่งสัญญาเช่าที่อ้างเป็นเหตุฟ้องขับไล่จำเลย จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 154 ถนนราชวงศ์ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร และส่งมอบบ้านดังกล่าวให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมทั้งค่าเสียหายอีกเดือนละ 5,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านของโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาข้อแรกว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในมูลหนี้ละเมิด โดยอาศัยอำนาจกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท ไม่ได้ฟ้องให้บังคับตามสัญญาเช่า จึงไม่ต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับรายละเอียดตามสัญญาเช่าหรืออ้างสัญญาเช่า แม้คำฟ้องจะระบุว่า เดิมจำเลยเป็นผู้เช่าบ้านพิพาทมาก่อน แต่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว ก็เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในบ้านพิพาทอีกต่อไปเท่านั้น การที่จำเลยคงอยู่ในบ้านพิพาทเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง
ปัญหาข้อที่สองว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทหรือไม่ โจทก์เบิกความว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร โจทก์ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากนายภักดี ศรีชวาลาซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย ได้จดทะเบียนการโอนเรียบร้อยแล้วตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย จ.1 นายกอบเกียรติ กิติคุณ พยานโจทก์เบิกความว่า พยานดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายทะเบียน 3 สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินตามโฉนดเอกสารหมาย จ.1 ได้กระทำโดยถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ผู้ซื้อที่ดินมีสัญชาติไทย และการที่จะลงว่ามีสัญชาติไทยนั้นจะต้องตรวจสอบจากทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนด้วย เห็นว่า การซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทได้มีการตรวจสอบและบันทึกถ้อยคำของโจทก์ไว้ ตามบันทึกถ้อยคำระบุว่าโจทก์เกิดที่กรุงเทพมหานคร เคยเป็นทหารเกณฑ์มาแล้ว และได้มอบหลักฐานหลายอย่างให้ตรวจสอบเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทย แม้สำเนาโฉนดเอกสารหมาย จ.1 เป็นสำเนาเอกสาร แต่ต้นฉบับดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของทางราชการ ศาลย่อมรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 123 วรรคสอง การที่นายกอบเกียรติพยานโจทก์ไม่รู้เห็นในการทำสัญญาซื้อขาย การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แต่พยานมีหน้าที่ควบคุมการจดทะเบียนและนิติกรรมนั้น ถือได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวดี ศาลรับฟังเพื่อประกอบพยานเอกสารและพยานบุคคลอื่นได้ ข้อที่จำเลยอ้างว่า โจทก์กับนายภักดีแกล้งทำสัญญาซื้อขายโอนที่ดินและบ้านพิพาทกันหลอก ๆ ไม่มีเจตนาซื้อขายจริง ก็เป็นข้ออ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ฟังไม่ได้ดังที่อ้าง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลสัญชาติไทย มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท มีอำนาจฟ้อง
ปัญหาข้อที่สามว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าโดยชอบหรือไม่และสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วหรือไม่ จำเลยเบิกความว่า เมื่อครบกำหนด20 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2520 ห้างหุ้นส่วนจำกัดตำบีซาย (ที่ถูกห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มุนนาตำบีไซบูมาริกัน หรือเอ็ม.ที.เอส.มาริกัน) ไม่ยอมให้ต่อสัญญา โดยอ้างว่าได้ขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่นายภักดี ศรีชวาลาแล้ว และปลายปี พ.ศ. 2520นายภักดีได้ฟ้องขับไล่จำเลย จำเลยไม่ได้ชำระค่าเช่าตลอดมาเพราะห้างหุ้นส่วนดังกล่าวผู้ให้เช่าไม่มาเก็บค่าเช่า เห็นว่าเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด ผู้ให้เช่าไม่ยอมต่อสัญญาให้โดยบอกว่าจะขายหรือขายที่ดินและบ้านพิพาทแล้ว ต่อมาในระยะต่อเนื่องกันนายภักดีผู้ซื้อไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในบ้านที่พิพาทได้ฟ้องขับไล่จำเลย กรณีเช่นนั้นแม้จำเลยจะอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทต่อมาหลังจากครบกำหนดสัญญาแล้วก็ถือไม่ได้ว่าได้ทำสัญญาใหม่โดยไม่มีกำหนดเวลา เพราะนายภักดีผู้ให้เช่าได้ทักท้วงแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 สัญญาเช่าระงับหรือสิ้นสุดโจทก์ผู้รับโอนที่ดินและบ้านพิพาทไม่จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาเช่าอีก และโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2522 โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาทภายในกำหนด 1 เดือน และจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เห็นว่าพยานโจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารสนับสนุนและจำเลยก็ไม่ได้นำสืบหักล้าง จำเลยกลับเบิกความว่าเคยเห็นเอกสารหมาย จ.2 เมื่อปี พ.ศ. 2522 ในคดีที่โจทก์เคยฟ้องและจำหน่ายคดีไปแล้ว เจือสมพยานโจทก์ จึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ออกจากที่ดินและบ้านพิพาทแล้ว แม้โจทก์จะบอกกล่าวก่อนฟ้องคดีก่อน แต่การที่จำเลยคงอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทตลอดมานั้น ก็ถือได้ว่าได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องคดีใหม่ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวอีก
ปัญหาข้อที่สี่ว่า โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทตลอดมาโดยไม่มีสิทธิ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้ ทั้งฟ้องโจทก์ได้ฟ้องในมูลละเมิดย่อมเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้
ปัญหาข้อที่ห้าว่า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า นายบุ้นจึ่ง แซ่ตั้ง พยานจำเลยที่จำเลยขอสืบนั้น เป็นพยานบอกเล่าและศาลได้ให้โอกาสแก่จำเลยพอสมควรแล้วจำเลยเองก็แถลงรับว่า หากไม่ได้สืบพยานไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้ถือว่าไม่ติดใจสืบทั้งโจทก์แถลงคัดค้านว่าจำเลยประวิงคดี พฤติการณ์ดังกล่าวประกอบกัน จึงมีเหตุสมควรจะงดสืบพยานจำเลยต่อไปศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง”
พิพากษายืน

Share