แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 กะทง ๆ ละ 5 ปี รวมเป็น 10 ปีเมื่อโทษที่ลงแก่จำเลยแต่ละกะทงไม่เกิน 5 ปี แล้วจำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงตลอดทั้งฎีกาในเรื่องใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษไม่ได้ ต้องห้ามตาม วิ.อาญา ม.218
อ้างฎีกาที่ 76/2484
คดีของศาลทหารที่โอนมาพิจารณาพิพากษายังศาลพลเรือน ตาม พ.ร.บ.กฎอัยยการศึก (ฉะบับที่ 3 ) พ.ศ. 2487 ม.8 แล้ว การพิจารณาพิพากษาคดีนั้นยังศาลทหารและการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นยังศาลพลเรือนย่อมเป็นการชอบด้วยกฎหมายโดยตลอด
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นสองสำนวน สำนวนแรกว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานบังคับให้นายแลให้สินบน สำนวนที่ ๒ ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานบังคับให้นายก๊วยให้สินบน ขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้น สั่งให้พิจารณาคดีรวมกันและฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามฟ้อง พิพากษาลงโทษตาม ก.ม.อาญา ม.๑๓๖ ใหัจำคุกจำเลย ๒ กะทง ๆ ละ ๕ ปี รวมเป็น ๑๐ ปี
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิด และศาลกำหนดโทษแรงไปแต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกะทงไม่เกิน ๕ ปี จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงตลอดทั้งการใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.ม.วิ.อาญา ม.๒๑๘ และจำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่าคดี ๒ เรื่องนี้เดิมจำเลยถูกฟ้องยังศาลทหาร ซึ่งได้อำนาจมาตามคำสั่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดตั้งขึ้นโดยไม่มีกฎหมายสนับสนุนไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.กฎอัยยการศึก คำสั่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดจึงเป็นโมฆะการพิจารณาของศาลทหารจึงไม่เกิดผลตามกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.กฎอัยยการศึก (ฉะบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๘๗ บัญญัติว่า “บรรดาคดีอาญาที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลทหารในวันใช้ พ.ร.บ.นี้ ซึ่งศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามความใน พ.ร.บ.นี้แล้วนั้น ให้โอนมาให้ศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษาต่อไป” เมื่อมีกฎหมายรับรองให้โอนคดีที่ศาลทหารค้างชำระอยู่มาให้ศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษาต่อไปดังนี้แล้ว การพิจารณาพิพากษาคดี ๒ เรื่องนี้จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายโดยตลอด พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย