คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 418/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งให้ ค. เป็นผู้ปกครองของเด็กชาย ท.คดีถึงที่สุดแล้วค. ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนเด็กชาย ท.จำเลยไม่อาจโต้แย้งในคดีนี้ว่าค. ไม่มีอำนาจเป็นผู้ปกครองเด็กชาย ท. ได้ ฟ้องระบุว่า ผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกของเจ้ามรดกได้แก่เด็กชาย ท. และจำเลย พร้อมกับบอกสัดส่วนที่มีสิทธิได้รับมรดกเป็นจำนวนเท่าใดไว้แล้ว ไม่จำเป็นต้องระบุว่าเจ้ามรดกมีทายาทจำนวนกี่คนและเป็นผู้ใด หากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเห็นว่าจำนวนทายาทหรือจำนวนทรัพย์สินที่โจทก์ขอแบ่งตามฟ้องไม่ถูกต้องจำเลยต้องให้การต่อสู้ไว้ และเมื่ออ่านฟ้องประกอบใบมรณบัตรเอกสารท้ายฟ้องแล้วเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องพิมพ์ข้อความผิดพลาด ที่ถูกต้องเป็นตามใบมรณบัตรแนบท้ายฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ทรัพย์ที่เจ้ามรดกกับ ส. เป็นเจ้าของร่วมกัน ต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เมื่อ ส. ถึงแก่กรรม ทรัพย์มรดกตกได้แก่เด็กชาย ท. บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับส่วนของเจ้ามรดกตกได้แก่ทายาทโดยธรรมทั้งสี่คนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อรวมแล้วเด็กชาย ท. มีสิทธิได้รับจำนวน 5 ใน 8 ส่วน กรณีทรัพย์มรดกมีผู้จัดการ อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันตั้งผู้จัดการมรดก ทายาทไม่จำต้องฟ้องเรียกทรัพย์มรดกภายใน 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง จำนวน 3 ใน 4 ส่วนแก่โจทก์ หากไม่สามารถแบ่งได้ให้จำเลยชดใช้ราคา ถ้าจำเลยไม่ยอมแบ่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า ทรัพย์มรดก 13 รายการท้ายฟ้องไม่ใช่ทรัพย์สินที่เจ้ามรดกทำมาหาได้ร่วมกับนางสิงห์ทอง หากแต่เป็นทรัพย์สินของเจ้ามรดกแต่ผู้เดียว ขณะเจ้ามรดกถึงแก่กรรมนั้นมีทายาท 4 คนคือจำเลยในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกับเด็กชายสมหวัง ประขันธ์เด็กชายรังสิยา ประขันธ์ และเด็กชายทองไหล ประขันธ์ ในฐานะผู้สืบสันดาน ทายาททั้งสี่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกรายนี้คนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยแบ่งและโอนทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ทั้งสิบสามรายการให้แก่โจทก์ 5 ส่วนใน 8 ส่วนหากจำเลยไม่จัดการแบ่งและโอนให้ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายบัน ประขันธ์ เจ้ามรดกได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสิงห์ทอง กันพา มีบุตรด้วยกัน 1 คนคือเด็กชายทองไหล ประขันธ์ และมีทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องนางสิงห์ทองถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2526 หลังจากนั้นเจ้ามรดกกับจำเลยได้อยู่กินเป็นสามีภริยากัน และได้จดทะเบียนสมรสกันเจ้ามรดกกับจำเลยมีบุตรด้วยกัน 2 คน เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก และมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลต่อมาโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีนี้และวินิจฉัยว่านายคำมูล ซึ่งเป็นลุงของเด็กชายทองไหลได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลเนื่องจากนายบันเจ้ามรดกคดีนี้ซึ่งเป็นบิดาของเด็กชายทองไหลได้ถึงแก่กรรมและศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งให้นายคำมูลเป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 182/2529 ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจมาโต้แย้งในคดีนี้ว่านายคำมูลไม่มีอำนาจขอเป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลได้ เมื่อนายคำมูลเป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลตามคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ระบุในหน้าฟ้องว่า “นายคำมูล ประขันธ์ ในฐานะผู้ปกครองเด็กชายทองไหลประขันธ์ โจทก์” ฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้แทนเด็กชายทองไหลในฐานะเป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลผู้เยาว์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตามฟ้องโจทก์ได้ระบุไว้แล้วว่า ผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกของเจ้ามรดกได้แก่เด็กชายทองไหลและจำเลย พร้อมกับบอกสัดส่วนที่เด็กชายทองไหลมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกเป็นจำนวนเท่าใดไว้แล้วไม่จำเป็นต้องระบุว่าเจ้ามรดกมีทายาทจำนวนกี่คน และเป็นผู้ใดหากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์สินของเจ้ามรดกเห็นว่าจำนวนทายาทของเจ้ามรดกหรือจำนวนทรัพย์สินที่โจทก์ขอแบ่งตามฟ้องไม่ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องให้การต่อสู้คดีไว้ส่วนคำฟ้องเมื่ออ่านฟ้องโจทก์ประกอบกับใบมรณบัตรเอกสารท้ายฟ้องแล้วย่อมเข้าใจได้ว่าที่ฟ้องโจทก์ระบุว่านางสิงห์ทองถึงแก่กรรมในปี 2529 เป็นเรื่องพิมพ์ข้อความผิดพลาดที่ถูกต้องนางสิงห์ทองถึงแก่กรรมในปี 2526 ตามใบมรณบัตรที่แนบมาท้ายฟ้อง ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ทรัพย์ที่เจ้ามรดกกับนางสิงห์ทองมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันต้องแบ่งออกเป็นสองส่วน เมื่อนางสิงห์ทองถึงแก่กรรม ส่วนของนางสิงห์ทองตกเป็นทรัพย์มรดกได้แก่เด็กชายทองไหลบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสิงห์ทอง สำหรับส่วนของเจ้ามรดกเป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนสมรสกับจำเลยจึงเป็นสินส่วนตัวของเจ้ามรดกเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่ทายาทโดยธรรมทั้งสี่ของเจ้ามรดกคือจำเลย เด็กชายสมหวัง เด็กหญิงรังสิยาและเด็กชายทองไหลคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อรวมมรดกของนางสิงห์ทองด้วยแล้ว เด็กชายทองไหลมีสิทธิได้รับทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย จ.13 จำนวน 5 ส่วนใน 8 ส่วน ตามคำให้การของจำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก และเด็กชายทองไหลเป็นทายาทคนหนึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกรายนี้ร่วมกับทายาทคนอื่นคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน จำเลยได้รวบรวมทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกเพื่อแบ่งให้กับทายาทแล้ว กรณีจึงฟังได้ว่า เป็นเรื่องมรดกมีผู้จัดการอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันตั้งผู้จัดการมรดก ทายาทจึงไม่จำต้องฟ้องเรียกให้แบ่งมรดกภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754
พิพากษายืน

Share