คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 418/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ค.เป็นผู้ปกครองเด็กชายท. ตามคำสั่งศาล มีอำนาจฟ้องจำเลยขอแบ่งมรดกให้แก่เด็กชาย ท. ได้ โจทก์ระบุในหน้าฟ้องว่า ค.ในฐานะผู้ปกครองเด็กชายท.แต่เมื่อข้อความตามที่โจทก์ระบุไว้หน้าฟ้องดังกล่าวและตามที่โจทก์บรรยายไว้ในคำฟ้องฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้แทนเด็กชาย ท.ในฐานะผู้ปกครองเด็กชาย ท. ผู้เยาว์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ระบุว่า ผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกของ บ.เจ้ามรดกได้แก่เด็กชาย ท. และจำเลย พร้อมกับบอกสัดส่วนที่เด็กชาย ท. มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกเป็นจำนวนเท่าใดไว้แล้วไม่จำเป็นต้องระบุเจ้ามรดกมีทายาทจำนวนกี่คน และเป็นผู้ใดหากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเห็นว่า จำนวนทายาทของเจ้ามรดกหรือจำนวนทรัพย์สินที่โจทก์ขอแบ่งไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องให้การต่อสู้คดีไว้ ส่วนที่ฟ้องโจทก์ระบุวันที่ ส.ถึงแก่กรรมผิดไป แต่ตามภาพถ่ายใบมรณบัตรเอกสารท้ายฟ้องได้ระบุว่าส. ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่เท่าไร ซึ่งเมื่ออ่านฟ้องโจทก์ประกอบกับใบมรณบัตรเอกสารท้ายฟ้องแล้วย่อมเข้าใจได้ว่า เป็นเรื่องพิมพ์ข้อความผิดพลาดที่ถูกต้องเป็นวันที่ตามใบมรณบัตรที่แนบมาท้ายฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม มรดกที่มีผู้จัดการ อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันตั้งผู้จัดการมรดก ทายาทจึงไม่จำต้องฟ้องเรียกให้แบ่งมรดกภายใน 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหล ประขันธ์ผู้เยาว์ ตามคำสั่งศาล ส่วนจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายบันหรือบรรหรือบรรณ ประขันธ์ เจ้ามรดก เดิมเมื่อประมาณ พ.ศ. 2515เจ้ามรดกได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสิงห์หรือสิงห์ทอง กันพามีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กชายทองไหล ประขันธ์ เจ้ามรดกได้แสดงต่อบุคคลทั่วไปว่า เด็กชายทองไหลเป็นบุตร ระหว่างอยู่กินด้วยกัน เจ้ามรดกและนางสิงห์ทองมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ด้วยกัน ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องรายการที่ 1 ถึง 13 และเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ถึง 11 รวมราคา 227,800 บาท เป็นส่วนของนางสิงห์ทองครึ่งหนึ่งจำนวน 113,900 บาท เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน2529 (ที่ถูก 2526) นางสิงห์ทองได้ถึงแก่กรรมปรากฏตามภาพถ่ายมรณบัตรเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 12 ทรัพย์สินส่วนของนางสิงห์ทองจึงเป็นมรดกตกทอดแก่เด็กชายทองไหลบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสิงห์ทอง โดยมีเจ้ามรดกปกครองดูแลแทน ต่อมาในเดือนมีนาคม2528 เจ้ามรดกได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยไม่มีทรัพย์สินเพิ่มเติม จนกระทั่งเจ้ามรดกถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 ทรัพย์สินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ถึง 11 ส่วนของเจ้ามรดกจึงเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทคือเด็กชายทองไหลและจำเลยคนละครึ่งคิดเป็นเงินคนละ56,950 บาท ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลแล้ว โจทก์ในฐานะผู้ปกครองเด็กชายทองไหลได้พยายามติดต่อเพื่อให้จำเลยแบ่งทรัพย์สินและทรัพย์มรดกแก่เด็กชายทองไหล แต่จำเลยเพิกเฉย เด็กชายทองไหลมีสิทธิได้รับมรดกในส่วนของนางสิงห์ทอง จำนวน 113,900 บาท และในส่วนของเจ้ามรดกจำนวน 56,950 บาท คิดเป็น 3 ใน 4 ส่วนของทรัพย์สินทั้งหมดรวมเป็นเงิน 170,850 บาท ขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ถึง 11 จำนวน 3 ใน 4ส่วนแก่โจทก์ หากไม่สามารถแบ่งได้ให้จำเลยชดใช้ราคา ถ้าจำเลยไม่ยอมแบ่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายบันเจ้ามรดกเจ้ามรดกและนางสิงห์ทองมีบุตร 1 คน คือ เด็กชายทองไหลทรัพย์มรดก 13 รายการ ตามเอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่ทรัพย์สินที่เจ้ามรดกทำมาหาได้ร่วมกับนางสิงห์ทอง หากแต่เป็นทรัพย์สินของเจ้ามรดกแต่ผู้เดียว เมื่อนางสิงห์ทองถึงแก่กรรมจึงไม่มีทรัพย์สินเป็นมรดกตกได้แก่เด็กชายทองไหลระหว่างเจ้ามรดกกับจำเลยสมรสกันได้ร่วมกันทำมาหากินได้ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจำนวนมากโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก 3 ใน 4 ส่วน และขณะเจ้ามรดกถึงแก่กรรมไม่มีทรัพย์ตามรายการที่ 11 ขณะเจ้ามรดกถึงแก่กรรมนั้นมีทายาท 4 คน คือจำเลยในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกับเด็กชายสมหวัง ประขันธ์ เด็กหญิงรังสิยา ประขันธ์ และเด็กชายทองไหลในฐานะผู้สืบสันดาน ทายาททั้งสี่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกรายนี้คนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าทายาทของเจ้ามรดกมีใครบ้าง เพียงแต่ระบุว่าทายาทมีเพียงโจทก์และจำเลย ทั้ง ๆ ที่โจทก์ก็ทราบว่า เด็กชายสมหวังและเด็กหญิงรังสิยาเป็นทายาทและมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกด้วย นางสิงห์ทองถึงแก่กรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2526 แต่โจทก์ระบุในฟ้องว่าถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. 2529 ทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุม และฟ้องของโจทก์ขาดอายุความมรดกเพราะเพิ่งฟ้องเมื่อเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกตาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งและโอนทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ทั้งสิบสามรายการให้แก่โจทก์ 5 ส่วนใน 8 ส่วน หากจำเลยไม่จัดการแบ่งและโอนให้ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ได้จากการนำสืบของโจทก์จำเลยและที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไว้โดยคู่ความไม่โต้แย้งแล้วฟังได้ว่า นายบัน ประขันธ์ เจ้ามรดกได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสิงห์ทอง กันพา มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กชายทองไหลประขันธ์ และมีทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องเอกสารหมาย จ.13นางสิงห์ทองถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2526 หลังจากนั้นเจ้ามรดกกับจำเลยได้อยู่กินเป็นสามีภริยากัน และได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2528 เจ้ามรดกกับจำเลยมีบุตรด้วยกัน2 คน คือเด็กชายสมหวัง ประขันธ์ กับเด็กหญิงรังสิยา ประขันธ์เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2529 และมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม2529 ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2529บิดามารดาของเจ้ามรดกได้ถึงแก่กรรมไปก่อนเจ้ามรดกแล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า (1) โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ (2) ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ (3) เด็กชายทองไหลมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกเพียงใด (4) คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
พิเคราะห์แล้วปัญหาข้อแรก จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากนายคำมูล ประขันธ์ ไม่ใช่เป็นญาติของเด็กชายทองไหลจึงไม่มีอำนาจขอเป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหล แม้ศาลจะมีคำสั่งตั้งให้นายคำมูลเป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 182/2529 ก็ไม่ทำให้นายคำมูลเป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลตามกฎหมาย นายคำมูลจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ว่า นายคำมูลซึ่งเป็นลุงของเด็กชายทองไหลได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลเนื่องจากนายบันเจ้ามรดกคดีนี้ซึ่งเป็นบิดาของเด็กชายทองไหลได้ถึงแก่กรรม และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้นายคำมูลเป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 182/2529 ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจมาโต้แย้งในคดีนี้ว่านายคำมูลไม่มีอำนาจขอเป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลได้เมื่อนายคำมูลเป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลตามคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ได้ระบุในหน้าฟ้องว่า “นายคำมูล ประขันธ์ ในฐานะผู้ปกครองเด็กชายทองไหล ประขันธ์โจทก์” นายคำมูลจึงเป็นโจทก์เองหาใช่ว่าเด็กชายทองไหลเป็นโจทก์นั้น เห็นว่า ข้อความตามที่โจทก์ระบุไว้ในหน้าฟ้องดังกล่าวและตามที่โจทก์บรรยายไว้ในคำฟ้องฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องคดีแทนเด็กชายทองไหลในฐานะเป็นผู้ปกครองเด็กชายทองไหลผู้เยาว์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่สอง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าตามฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุมีใครบ้างเป็นทายาทเจ้ามรดก ทำให้จำเลยไม่อาจรู้ได้ว่ามีทายาทกี่คนและจะแบ่งทรัพย์มรดกกันอย่างใดเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ได้ระบุไว้แล้วว่า ผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกของเจ้ามรดกได้แก่เด็กชายทองไหลและจำเลย พร้อมกับบอกสัดส่วนที่เด็กชายทองไหลมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกเป็นจำนวนเท่าใดไว้แล้ว ตามฟ้องไม่จำเป็นต้องระบุว่าเจ้ามรดกมีทายาทจำนวนกี่คนและเป็นผู้ใด หากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์สินของเจ้ามรดกเห็นว่าจำนวนทายาทของเจ้ามรดกหรือจำนวนทรัพย์สินที่โจทก์ขอแบ่งตามฟ้องไม่ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องให้การต่อสู้คดีไว้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ระบุวัน เดือน ปีที่นาง สิงห์ทองถึงแก่กรรมไม่ตรงต่อความเป็นจริง ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า แม้ตามฟ้องโจทก์จะระบุว่า นางสิงห์ทองถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2529 แต่ตามฟ้องที่ได้ระบุว่านางสิงห์ทองถึงแก่กรรมตามภาพถ่ายใบมรณบัตรเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 12 ซึ่งในใบมรณบัตรดังกล่าวก็ระบุว่านางสิงห์ทองถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2526 เมื่ออ่านฟ้องโจทก์ประกอบกับใบมรณบัตรเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 12 แล้วย่อมเข้าใจได้ว่าฟ้องโจทก์ระบุว่านางสิงห์ถึงแก่กรรมในปี 2529 เป็นเรื่องพิมพ์ข้อความผิดพลาด ที่ถูกต้องนางสิงห์ทองถึงแก่กรรมในปี 2526ตามใบมรณบัตรที่แนบมาท้ายฟ้อง ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่สาม เด็กชายทองไหลมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกเพียงใด จำเลยฎีกาในปัญหาข้อนี้ว่า ทรัพย์มรดกทั้งสิบสามรายการตามเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งมีที่ดินรวม 5 แปลง และเงินฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสกลนครรวมอยู่ด้วย เป็นทรัพย์ของเจ้ามรดกแต่เพียงผู้เดียวไม่ใช่เป็นทรัพย์ที่เจ้ามรดกกับนางสิงห์ทองทำมาหาได้ร่วมกัน เพราะตามหลักฐานที่ปรากฎมีชื่อเจ้ามรดกเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว เห็นว่า ตามฎีกาจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่าทรัพย์สินทั้งสิบสามรายการไม่ใช่เป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างที่เจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสิงห์ทอง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไว้ ข้อเท็จจริงจึงฟังในชั้นนี้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแล้วว่า ทรัพย์สินทั้งสิบสามรายการได้มาระหว่างเจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสิงห์ทองกรณีย่อมถือได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดเป็นทรัพย์ที่เจ้ามรดกและนางสิงห์ทองทำมาหาได้ร่วมกัน คนทั้งสองจึงต่างมีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมดคนละครึ่ง ข้อที่จำเลยว่า ทรัพย์มรดกมีชื่อเจ้ามรดกเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวจึงเป็นของเจ้ามรดกนั้นเพียงเท่านี้ไม่พอให้รับฟังว่า ทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่เจ้ามรดกและนางสิงห์ทองทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น สำหรับปัญหาตามฎีกาจำเลยว่า ทรัพย์สินรายการที่ 11 ได้แก่สินค้าประเภทเสื้อผ้ามีราคาเท่าใดนั้น ฝ่ายโจทก์มีนายจำนงค์ แปโค ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์พาเจ้ามรดกไปค้าขายเสื้อผ้าตามจังหวัดต่าง ๆ มาเป็นพยานว่าก่อนถึงแก่กรรมเจ้ามรดกซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้าที่จังหวัดอุดรธานีมีราคาประมาณ 40,000 บาท แล้วขายไปบางส่วนคงเหลือสินค้าอยู่ประมาณราคา 30,000 บาท เห็นว่า นายจำนงค์เป็นผู้ช่วยเจ้ามรดกขายสินค้ามาเป็นเวลานานหลายปีย่อมรู้เรื่องเกี่ยวกับสินค้าของเจ้ามรดกเป็นอย่างดีประกอบกับนายจำนงค์ก็ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับฝ่ายใด คำเบิกความของนายจำนงค์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ฝ่ายจำเลยในชั้นแรกให้การปฏิเสธว่า ขณะเจ้ามรดกถึงแก่กรรมไม่มีทรัพย์สินตามรายการที่ 11 แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยกลับเบิกความต่อสู้ลอย ๆ ว่า มีสินค้าดังกล่าวอยู่เพียง 15,000 บาท คำเบิกความของจำเลยไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างพยานโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า ขณะเจ้ามรดกถึงแก่กรรมมีสินค้าประเภทเสื้อผ้าอยู่ราคา 30,000 บาท ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องทั้งสิ้น 13 รายการ มีราคาประมาณ227,251.31 บาท เป็นทรัพย์ที่เจ้ามรดกกับนางสิงห์ทองมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกัน ต้องแบ่งออกเป็นสองส่วน เมื่อนางสิงห์ทองถึงแก่กรรม ส่วนของนางสิงห์ทองตกเป็นทรัพย์มรดกได้แก่เด็กชายทองไหลบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสิงห์ทอง สำหรับส่วนของเจ้ามรดกเป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนสมรสกับจำเลยจึงเป็นสินส่วนตัวของเจ้ามรดก เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่ทายาทโดยธรรมทั้งสี่ของเจ้ามรดกคือ จำเลย เด็กชายสมหวังเด็กหญิงรังสิยาและเด็กชายทองไหลคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กันเมื่อรวมมรดกของนางสิงห์ทองด้วยแล้ว เด็กชายทองไหลมีสิทธิได้รับทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย จ.13 จำนวน 5 ส่วนใน8 ส่วน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยที่จำเลยฎีกาว่า ทรัพย์สินทั้งสิบสามรายการ จำเลย เด็กชายสมหวัง เด็กหญิงรังสิยา และเด็กชายทองไหลมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกคนละส่วนเท่า ๆ กัน ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้าย คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าคดีนี้พิพาทกันเกี่ยวด้วยทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดอายุความมรดกไว้มีกำหนด1 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า ตามคำให้การจำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก และเด็กชายทองไหลเป็นทายาทคนหนึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกรายนี้ร่วมกับทายาทคนอื่นคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน จำเลยได้รวบรวมทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกเพื่อแบ่งให้กับทายาทแล้ว กรณีจึงฟังได้ว่า เป็นเรื่องมรดกมีผู้จัดการ อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันตั้งผู้จัดการมรดกทายาทจึงไม่จำต้องฟ้องเรียกให้แบ่งมรดกภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share