คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รองเลขาธิการ ก.ต.ป. (คณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ) ไม่มีอำนาจหน้าที่อย่างเช่นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและมิได้เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งจะรับคำร้องทุกข์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้เสียหายร้องเรียนไปยังรองเลขาธิการ ก.ต.ป. ในคดีความผิดต่อส่วนตัว จึงมิใช่เป็นการร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องและเมื่อพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง คำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหายย่อมตกไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาโอนหุ้นปลอมและได้ใช้สัญญาโอนหุ้นปลอมนั้น โอนหุ้นของบริษัทเยาว์ณี จำกัด ให้ผู้อื่น จำเลยได้ยักยอกทรัพย์อันเป็นรายได้ของบริษัทเยาว์ณี จำกัด ไป ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268, 352, 353, 90, 91 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 2 และให้คืนหรือใช้ราคาหุ้น

จำเลยให้การปฏิเสธ

พลเรือตรีฮวัลย์กับพวกในฐานะกรรมการของบริษัทเยาว์ณี จำกัดและในฐานะผู้ถือหุ้นยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นเชื่อว่าจำเลยทำผิดตามฟ้อง พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 352, 353, 90, 91พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยวางโทษในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 จำคุก 1 ปี ความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 และความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 เป็นความผิดกรรมเดียวกัน จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยกระทำผิดตามกฎหมายดังกล่าวรวม 2 กระทง ให้ลงโทษกระทงละ 1 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาค่าหุ้นจำนวน 4,947 หุ้น รวมราคาทั้งสิ้น 8,409,900 บาท และให้คืนหรือใช้เงินจำนวน 1,879,000 บาทแก่บริษัทเยาว์ณี จำกัด ด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า หลักฐานพยานโจทก์ทุกข้อหาล้วนแต่เป็นพิรุธ ขาดน้ำหนักรับฟัง ทั้งบางอย่างเจือสมกับหลักฐานพยานจำเลยจึงฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองต่างฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาโอนหุ้นมิใช่เอกสารปลอม และในส่วนที่เกี่ยวกับข้อหาฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342, 353 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ และจำเลยโต้แย้งว่าผู้เสียหายคดีนี้ไม่ได้ร้องทุกข์ตามระเบียบได้พิเคราะห์แล้ว ปรากฏตามคำเบิกความของพลเรือตรีถวัลย์ และนายบุญพันธ์โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นผู้เสียหายว่าได้ร้องทุกข์ต่อสำนักงาน ก.ต.ป. ตามเอกสารหมาย จ.6 ลงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2515 และเอกสารหมาย จ.7 ลงวันที่ 9 ตุลาคม2515 ศาลฎีกาได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้ง 2 ฉบับแล้ว ปรากฏว่าเป็นหนังสือถึงพันโทณรงค์ทั้ง 2 ฉบับ โดยมิได้ระบุว่าพันโทณรงค์มีตำแหน่งหน้าที่อย่างใดในสำนักงาน ก.ต.ป. แม้จะฟังอย่างศาลชั้นต้นว่าพันโทณรงค์เป็นรองเลขาธิการก.ต.ป. หรือคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ แต่ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 324 (ซึ่งเพิ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2515) ข้อ 12ก็กำหนดให้เลขาธิการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการมีอำนาจหน้าที่ “เพื่อปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ” และตามข้อ 13 มีอำนาจ”ที่จะจับผู้ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าได้กระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร”หาได้มีอำนาจหน้าที่อย่างเช่นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ และรองเลขาธิการ คณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการก็มิได้เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งจะรับคำร้องทุกข์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 จึงมิใช่คำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อคดีได้ความว่าผู้เสียหายทั้งสองไม่ได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย แม้ต่อมาจะมีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจ การสอบสวนนั้นก็ไม่เป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการย่อมจะไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหานี้ และเมื่อพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหานี้ คำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหายทั้งสองย่อมเป็นอันตกไปด้วย เพราะไม่มีคำฟ้องของโจทก์ร่วมเป็นอีกคดีหนึ่งเหลืออยู่ที่จะให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ ที่ศาลล่างทั้งสองรับพิจารณาและวินิจฉัยการกระทำของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับข้อหาฐานยักยอกจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ในผลที่ให้ยกฟ้องของโจทก์สำหรับข้อหานี้

พิพากษายืน

Share