คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2242/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ส.ในนามของบริษัทลูกหนี้ กับในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.และในฐานะส่วนตัวได้ทำสัญญาจ้างผู้ขอรับชำระหนี้เป็นทนายแก้ต่างในคดีแพ่ง 2 คดี เป็นเงินค่าจ้างจำนวนหนึ่ง คดีแรกเป็นคดีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. และส. ถูกฟ้องเป็นจำเลย คดีหลังเป็นคดีที่บริษัทลูกหนี้และ ส.ถูกฟ้องเป็นจำเลย ผู้ขอรับชำระหนี้ได้เข้าเป็นทนายความให้บริษัทลูกหนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.และส.ทั้ง 2คดี จนเสร็จสิ้นแล้ว หนี้ค่าจ้างว่าความจำนวนตามสัญญาดังกล่าวเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระได้ และมีบุคคลหลายคนเป็นลูกหนี้ คือบริษัทลูกหนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. และส. เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการกำหนดไว้ว่าลูกหนี้ทั้งสามจะต้องรับผิดร่วมกันในจำนวนหนี้ทั้งหมด แต่ได้มีการระบุในสัญญาว่าค่าจ้างว่าความนั้นคิดห้าเปอร์เซ็นต์จากจำนวนทุนทรัพย์ของทั้ง 2 คดี เจตนาของคู่กรณีจึงอาจต้องการคิดค่าจ้างว่าความโดยคำนวณจากทุนทรัพย์ของแต่ละคดีแยกจากกันก็ได้ ถึงแม้จะทำสัญญาจ้างว่าความเป็นฉบับเดียวกันก็ตาม กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 290 คือลูกหนี้แต่ละคนต้องรับผิดเพียงเป็นส่วนละเท่าๆ กัน

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ผู้ขอรับชำระหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าจ้างว่าความและค่าฝากทรัพย์ผู้ขอรับชำระหนี้รวมเป็นเงิน ๔๓๙,๕๓๘ บาท ๓๗ สตางค์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด เจ้าหนี้รายที่ ๕ โต้แย้งหนี้รายนี้ว่าเป็นหนี้เกินกว่าความจริง ขอให้ยกคำขอชำระหนี้รายนี้เสีย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วทำรายงานความเห็นว่า การที่นายสากล วิบูลย์วัฒนกิจ ได้ทำสัญญาจ้างว่าความลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๑๕ ว่าได้กระทำในนามของบริษัทลูกหนี้และในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดสากลหล่อยาง และในฐานะส่วนตัวจ้างให้ผู้ขอรับชำระหนี้ว่าความแก้ต่างในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครวรรค์คือคดีหมายเลขดำที่ ๓๗๔/๒๕๑๕ ระหว่างธนาคารกรุงไทย จำกัด โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดสากลหล่อยาง ที่ ๑ นายสากล วิบูลย์วัฒนกิจ ที่ ๒ จำเลยและคดีหมายเลขดำที่ ๓๗๕/๒๕๑๕ ระหว่างธนาคารกรุงไทย จำกัด โจทก์ บริษัทลูกหนี้ ที่ ๑ นายสากล วิบูลย์วัฒนกิจ ที่ ๒ จำเลย โดยมีนายสากล วิบูลย์วัฒนกิจ เพียงคนเดียวลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวเป็นการไม่ถูกต้องตามข้อบังคับที่ได้จดทะเบียนไว้ของบริษัทลูกหนี้ ถือได้ว่าได้กระทำไปโดยปราศจากอำนาจไม่ผูกพันบริษัทลูกหนี้แต่ปรากฏว่าสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวเป็นการสมประโยชน์ของบริษัทลูกหนี้ซึ่งถูกฟ้องและบริษัทลูกหนี้ได้ชำระค่าจ้างว่าความให้แก่ผู้ขอรับชำระหนี้ไปเป็นเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท แล้ว ถือได้ว่าบริษัทลูกหนี้ได้ให้สัตยาบันแก่การนี้แล้ว สัญญาจ้างว่าความจึงกลับมีผลผูกพันบริษัทลูกหนี้ แต่ตามสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นการจ้างว่าความในคดีแพ่ง ๒ คดีซึ่งบริษัทลูกหนี้ถูกฟ้องเป็นคดีเดียว บริษัทลูกหนี้จึงต้องรับผิดเพียงค่าจ้างว่าความที่เจ้าหนี้ได้ดำเนินไปในคดีหมายเลขดำที่ ๓๗๕/๒๕๑๕ ซึ่งปรากฏว่าคดีนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ดำเนินการให้เพียงยื่นคำให้การ แล้วธนาคารกรุงไทย จำกัด ผู้เป็นโจทก์ก็ได้ถอนฟ้อง ดังนั้นการที่ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับเงินค่าจ้างว่าความจากบริษัทลูกหนี้ไปเป็นเงินถึง ๒๔๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ส่วนค่าฝากทรัพย์ ผู้ขอรับชำระหนี้กล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีหลักฐานมาให้สอบสวน สมควรยกคำขอรับชำระหนี้รายนี้เสียทั้งสิ้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้เสียทั้งสิ้น
ผู้ขอรับชำระหนี้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ขอรับชำระหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายสากล วิบูลย์วัฒนกิจ ในนามของบริษัทลูกหนี้กับในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดสากลหล่อยาง และในฐานะส่วนตัวได้ทำสัญญาลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๑๕ จ้างผู้ขอรับชำระหนี้เป็นทนายแก้ต่างในคดีแพ่ง ๒ คดี เป็นเงินค่าจ้าง ๖๐๔,๔๓๖ บาท คดีแรกเป็นคดีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสากลหล่อยาง และนางสากล วิบูลย์วัฒนกิจ ถูกฟ้องเป็นจำเลย คดีหลังเป็นคดีที่บริษัทลูกหนี้และนายสากล วิบูลย์วัฒนกิจ ถูกฟ้องเป็นจำเลย ผู้ขอรับชำระหนี้ได้เข้าเป็นทนายฐานให้บริษัทลูกหนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดสากลหล่อยาง และนายสากล วิบูลย์วัฒนกิจ ทั้ง ๒ คดีจนเสร็จสิ้นแล้ว แล้ววินิจฉัยว่าหนี้ค่าจ้างว่าความจำนวน ๒๐๔,๔๓๖ บาท ตามสัญญาดังกล่าวเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระได้ และมีบุคคลหลายคนเป็นลูกหนี้ คือบริษัทลูกหนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสากลหล่อยาง และนายสากล วิบูลย์วัฒนกิจ ไม่ปรากฏว่าได้มีการกำหนดไว้ว่าลูกหนี้ทั้งสามจะต้องรับผิดร่วมกันในจำนวนหนี้ทั้งหมด แต่ได้มีการระบุในสัญญาว่าค่าจ้างว่าความนั้นคิด ๕ เปอร์เซ็นต์จากจำนวนทุนทรัพย์ของทั้งสองคดี เจตนาของคู่กรณีจึงอาจต้องการคิดค่าจ้างว่าความโดยคำนวณจากทุนทรัพย์ของแต่ละคดีแยกจากกันก็ได้ ถึงแม้จะทำสัญญาจ้างว่าความเป็นฉบับเดียว กรณีเช่นนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๙๐ บัญญัติว่า “ถ้าการชำระหนี้เป็นการอันจะแบ่งกันชำระได้ และมีบุคคลหลายคนเป็นลูกหนี้ก็ดี ฯลฯ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยท่านว่าลูกหนี้แต่ละคนจะต้องรับผิดเพียงเป็นส่วนเท่าๆ กัน ฯลฯ” ดังนั้น หนี้ค่าจ้างว่าความจำนวน ๖๐๔,๔๓๖ บาทตามสัญญาจ้างว่าความดังกล่า ลูกหนี้ทั้งสามคือ บริษัทลูกหนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดสากลหล่อยาง และนายสากล วิบูลย์วัฒนกิจ แต่ละคนจึงต้องรับผิดเพียงเป็นส่วนละเท่าๆ กัน โดยจะต้องรับผิดต่อผู้ขอรับขำระหนี้ก็แต่เพียงคนละ ๒๐๑,๔๗๘ บาท ๖๖ สตางค์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทลูกหนี้ได้ชำระค่าจ้างว่าความให้แก่ผู้ขอรับชำระหนี้ไปแล้วเป็นเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท อันเกินจำนวนหนี้ที่ตนจะต้องรับผิดอยู่แล้ว ฉะนั้นผู้ขอรับชำระหนี้จะขอรับชำระหนี้ส่วนที่เหลือเพื่อใช้แทนส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดสากลหล่อยาง และส่วนของนายสากล วิบูลย์วัฒนกิจ ให้เต็มจำนวนหนี้ทั้งหมดหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share