คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4169/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสำนักงานของโจทก์ร่วม การควบคุม ดูแล เก็บรักษาสินค้า เบิกจ่ายสินค้าและทำบัญชีเบิกจ่ายสินค้าในสต็อกจึงเป็นเพียงการทำงานในหน้าที่และดูแลสินค้าชั่วคราวในเวลาที่จำเลยทำงานเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้มอบการครอบครองสินค้าให้แก่จำเลยไปดูแลจัดการโดยเด็ดขาดไม่ ดังนี้ แม้หากมีสินค้าของโจทก์ร่วมขาดหายไปจากสต็อกซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 83 รายการ เป็นเงิน 216,920 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1205/2545 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัทเพนพับลิชชิ่ง จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคแรก) จำคุก 10 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 83 รายการ เป็นเงิน 216,920 บาท แก่โจทก์ร่วม คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยยักยอกสินค้าของโจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสำนักงานของโจทก์ร่วม การควบคุม ดูแล เก็บรักษาสินค้า เบิกจ่ายสินค้าและทำบัญชีเบิกจ่ายสินค้าในสต็อกจึงเป็นเพียงการทำงานในหน้าที่และดูแลสินค้าชั่วคราวในเวลาที่จำเลยทำงานเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้มอบการครอบครองสินค้าให้แก่จำเลยไปดูแลจัดการโดยเด็ดขาดไม่ ดังนี้ แม้หากมีสินค้าของโจทก์ร่วมขาดหายไปจากสต็อกซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก คงมีปัญหาว่า จำเลยลักทรัพย์สินค้าของโจทก์ร่วมหรือไม่ อันมิใช่ข้อแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญหรือเป็นเรื่องเกินคำขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง เห็นว่า ในคดีอาญาที่จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำผิดให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดจริง แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความเพียงว่า นางสิริพัชรเพียงนำรายการสินค้าที่โจทก์ร่วมขอเบิกมาจากบริษัทไมด้าเอ็กซ์เซ็ส จำกัด มาเปรียบเทียบกับรายการสินค้า BARTER ส่งฝากขายที่ไมด้า ใบสรุปรายการรับเงินจากการขายของ BARTER/ค่าขายนิตยสาร ซึ่งจำเลยทำขึ้น แล้วพบว่าสินค้าขาดหายไปหลายรายการตามใบสรุปผลการตรวจนับสินค้า BARTER และใบสรุปยอดสินค้าขาดสต็อกเท่านั้น หาได้มีผู้ใดพบเห็นว่าจำเลยเป็นผู้ที่ลักสินค้าดังกล่าวไปอย่างไรและเมื่อใดไม่ ลำพังการตรวจสอบด้านเอกสารแล้วพบว่ามีสินค้าขาดหายไปจากสต็อกในขณะอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยแล้วจะพึงอนุมานเอาว่าจำเลยต้องเป็นคนเอาไปย่อมไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นที่นางสิริพัชรเบิกความตอบโจทก์ว่า พยานตรวจสอบเอกสารที่จำเลยทำขึ้นพบว่ามีผู้มาขอเบิกสินค้าไปจากจำเลยแล้วเรียกเก็บค่าสินค้าไม่ได้หลายรายการ กับพบว่าจำเลยเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากผู้เบิกสินค้าได้แล้ว แต่จำเลยไม่ได้นำเงินเข้าบัญชีให้แก่บริษัทไมด้าเอ็กซ์เซ็ส จำกัด กับเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยืนยันในเรื่องดังกล่าวว่า มีสินค้าบางรายการที่พนักงานของโจทก์ร่วมเบิกไปและยังไม่ได้ชำระค่าสินค้าและบางรายการเป็นสินค้าที่นำไปวางจำหน่ายตามร้านค้าของลูกค้าหรือบริษัทในเครือของโจทก์ร่วมและยังเรียกเก็บเงินไม่ได้ แต่จำเลยไม่มีเอกสารมายืนยัน พยานจึงไม่ตัดออกจากรายการสินค้าสูญหาย ย่อมแสดงว่าการเบิกสินค้าหลายรายการตามเอกสารมีผู้ขอเบิกไปจากจำเลยจริง มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเอาสินค้าไปเองโดยพลการโดยทุจริต และที่จำเลยไม่นำเงินค่าสินค้าที่รับมาเข้าบัญชีให้แก่บริษัทไมด้าเอ็กซเซ็ส จำกัด มิใช่เป็นเหตุผลว่าจำเลยได้ลักสินค้าไป พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share