คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4156/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 196 วรรคสองประกอบมาตรา 193 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสามและวรรคสี่เดิมกรณีที่จะถือว่าจำเลยในคดีไม่มีข้อยุ่งยากขาดนัดยื่นคำให้การ คือกรณีที่จำเลยมาศาลตามวันที่กำหนดในหมายเรียกแต่ไม่ยอมให้การโดยศาลไม่ต้องมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแต่ประการใดแต่คดีนี้ในวันนัดแก้ข้อหาและนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าว ทนายจำเลยได้มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดี และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วถือได้ว่าเป็นการเลื่อนทั้งคดีซึ่งหมายถึงการให้การแก้ข้อหาและสืบพยานโจทก์ด้วย มิใช่กรณีที่จำเลยมาศาลแต่ไม่ยอมให้การ และศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่ยอมให้เลื่อนเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การและดำเนินการพิจารณาต่อไปตามที่กฎหมายกำหนดแต่ประการใด ศาลชั้นต้นจึงควรกำหนดวันนัดให้จำเลยแก้ข้อหาใหม่การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จำเลยจึงไม่จำต้องยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การแต่อย่างใดแม้การที่จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การและศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำสั่งยกคำร้องก็ตาม ก็หามีผลให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การกลับเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 317,691 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากและให้พิจารณาคดีอย่างคดีมโนสาเร่นัดจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การแก้ข้อหาและสืบพยานโจทก์ ครั้นถึงวันนัดศาลให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์และมีคำสั่งในวันนั้นว่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2540 ว่าจำเลยที่ 2ขาดนัดยื่นคำให้การโดยจงใจ ไม่มีเหตุอันสมควร ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การให้ดำเนินคดีต่อไป ในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 2ได้ยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขออนุญาตยื่นคำให้การแต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การ ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับวันที่ 17 ตุลาคม 2540 จึงไม่รับคำให้การจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม2539 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก นัดจำเลยทั้งสองให้การแก้ข้อหาและสืบพยานโจทก์วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2540 ครั้นถึงวันนัดทนายโจทก์และผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยที่ 2 มาศาล ทนายโจทก์แถลงว่า คดีอยู่ระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1และยังไม่ทราบผลการส่งหมาย ขอเลื่อนคดี ผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายจำเลยที่ 2 เป็นพยานในคดีอื่นของศาลชั้นต้น ไม่สามารถมาทำหน้าที่ได้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์นัดหน้าและมีคำสั่งในตอนท้ายว่า จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การจึงมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2ขาดนัดยื่นคำให้การ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษานอกฟ้องอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 2ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำให้การจำเลยที่ 2 ที่ยื่นเมื่อวันที่ 17ตุลาคม 2540 โดยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การลงวันที่ 10 มีนาคม 2540 แต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์ไปพิจารณาในเรื่องที่ว่าจำเลยที่ 2 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่และพิพากษายืน จึงเป็นการพิจารณาพิพากษานอกฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2ย่อมเป็นการไม่ชอบ ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น สำหรับปัญหาว่าคำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2540 ที่สั่งให้จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำให้การจำเลยฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม 2540 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย และจำเลยที่ 2 ก็ได้ฎีกาเป็นประเด็นไว้ในคำฟ้องฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 196 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าคดีนั้นปรากฏในเบื้องต้นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่งหรือไม่ ก็ให้ศาลมีคำสั่งพิจารณาคดีนั้นตามข้อบังคับที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ว่าด้วยคดีมโนสาเร่” และมาตรา 193 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”ถ้าศาลเห็นว่าคดีนั้นเป็นคดีมโนสาเร่ ให้ศาลออกหมายเรียกไปยังจำเลยในหมายนั้นให้จดแจ้งประเด็นแห่งคดีและจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาที่เรียกร้อง และข้อความว่าให้จำเลยมาศาลและให้จำเลยให้การในวันเดียวกันนั้น หรือในวันอื่นต่อมาตามแต่ศาลจะเห็นสมควร โดยมิให้เป็นการเสียหายแก่การต่อสู้คดี” วรรคสองบัญญัติว่า “เมื่อจำเลยมาศาลตามวันที่กำหนดไว้ในหมายเรียก จำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือหรือจะให้การด้วยวาจาก็ได้ ในกรณีหลังนี้ให้ศาลจดรายงานพิสดารแห่งคำให้การไว้อ่านให้จำเลยฟังแล้วให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ”วรรคสามบัญญัติว่า “ถ้าจำเลยมาศาลพร้อมด้วยโจทก์และศาลไม่เห็นสมควรเลื่อนเวลาให้จำเลยเตรียมตัวสู้คดี ศาลจะอ่านรายงานแห่งใจความที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยฟังแล้วกำหนดให้จำเลยให้การแก้ฟ้องด้วยวาจาไปทีเดียวก็ได้” วรรคสี่บัญญัติว่า “ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว ถ้าจำเลยไม่ให้การ ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ยอมให้เลื่อนเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การและดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปโดยถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ” จากบทบัญญัติดังกล่าวกรณีที่จะถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ คือ กรณีที่จำเลยมาศาลตามวันที่กำหนดในหมายเรียกแต่ไม่ยอมให้การ โดยศาลไม่ต้องมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแต่ประการใด แต่คดีนี้ในวันนัดแก้ข้อหาและนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าว ทนายจำเลยที่ 2 ได้มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดี และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วถือได้ว่าเป็นการเลื่อนทั้งคดีซึ่งหมายถึงการให้การแก้ข้อหาและสืบพยานโจทก์ด้วยมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 มาศาลแต่ไม่ยอมให้การ และศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่ยอมให้เลื่อนเวลาให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การและดำเนินการพิจารณาต่อไปตามที่กฎหมายกำหนดแต่ประการใด ศาลชั้นต้นจึงควรกำหนดวันนัดแก้ข้อหาใหม่สำหรับจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จำเลยที่ 2จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การแต่อย่างใด แม้การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม2540 และศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำสั่งยกคำร้องก็ตามก็หามีผลให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การกลับเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ อันจะเป็นการตัดสิทธิจำเลยที่ 2ที่จะยื่นคำให้การแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม 2540 จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกันฎีกาจำเลยที่ 2 ในปัญหานี้ฟังขึ้น”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ให้ศาลชั้นต้นรับคำให้การจำเลยที่ 2 และบัญชีระบุพยานฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม 2540แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

Share