แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คู่ความตกลงท้ากันโดยถือเอาผลของการรังวัดที่ดินแปลงพิพาทของเจ้าพนักงานที่ดินว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งทางราชการได้ออกให้แก่จำเลยหรือไม่ เป็นข้อแพ้ชนะในคดี เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินออกไปรังวัดทำแผนที่ที่ดินพิพาท แล้วมาเบิกความว่า ที่ดินแปลงพิพาทไม่สามารถรังวัดหรือตรวจสอบได้ว่าอยู่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งทางราชการได้ออกให้แก่จำเลยหรือไม่ และไม่ทราบว่าที่ดินแปลงพิพาทมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วหรือไม่ โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่สามารถรังวัดหรือตรวจสอบได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าได้มีการตรวจสอบแนวเขตที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลย เช่นนี้กรณีจึงไม่อาจถือว่าคำเบิกความของเจ้าพนักงานที่ดินทำให้เกิดผลสำเร็จตามคำท้าที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาตามคำท้าได้
เมื่อคำท้าไม่บรรลุผลสำเร็จตามคำท้า กรณีย่อมถือเสมือนหนึ่งว่าไม่มีคำท้าอยู่เลย ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป แม้เจ้าพนักงานที่ดินเบิกความเสร็จ และทนายโจทก์แถลงหมดพยานโดยจำเลยมิได้แถลงอะไร ซึ่งมีผลเท่ากับว่าคู่ความไม่ติดใจสืบพยานหลักฐานต่อไป ศาลก็จำต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามรูปคดีก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาที่คู่ความได้ดำเนินการไปดังกล่าวอาจเกิดจากการสำคัญผิดในผลแห่งคำท้าโดยเข้าใจว่าคำเบิกความของเจ้าพนักงานที่ดินทำให้เกิดผลสำเร็จตามคำท้าก็ได้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาจึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาฎีกาให้คู่ความฟัง เพื่อให้คู่ความได้ทราบและเข้าใจถึงผลแห่งคำท้าเสียก่อนว่าคำท้ายังไม่บรรลุผลสำเร็จ แล้วให้คู่ความแถลงถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปใหม่
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้ขับไล่จำเลยพร้อมรื้อถอนเสารั้วไม้ลวดหนามและขนย้ายทรัพย์สินกับบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยส่งมอบที่ดินให้โจทก์ทั้งสองในสภาพเรียบร้อยและห้ามจำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทอีกต่อไป ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงท้ากันว่า หากเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดที่ดินพิพาทแล้วปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยแล้ว และที่ดินพิพาทอยู่ในที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 4 หน้า 25 สารบบเล่มหมู่ที่ 9 หน้า 525 ตำบลหนองบุ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี จริงแล้ว โจทก์ยอมแพ้คดี แต่หากเจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถทำการรังวัดได้ว่าที่ดินพิพาทมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินพิพาททั้งหมดรวมอยู่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 4 หน้า 25 สารบบเล่มหมู่ที่ 9 หน้า 525 ตำบลหนองบุ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี แล้วจำเลยยอมแพ้คดี โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยขอสละประเด็นข้อพิพาทอื่นทั้งหมด ปรากฏว่าโจทก์นำนายอุเทนเจ้าพนักงานที่ดินเบิกความประกอบระวางแผนที่ที่ดินพิพาทที่นายอุเทนได้ทำการรังวัดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2543 ว่าที่ดินพิพาทไม่สามารถรังวัดหรือตรวจสอบได้ว่าอยู่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 4 หน้า 25 สารบบเล่มหมู่ที่ 9 หน้า 525 ตำบลหนองบุ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี หรือไม่ และไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวาร ให้จำเลยรื้อถอนเสารั้วไม้ลวดหนามและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง เนื้อที่ 30 ไร่ตั้งอยู่ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ตามแผนที่พิพาท ให้จำเลยส่งมอบที่ดินในสภาพเรียบร้อย และห้ามจำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 กรกฎาคม2540) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลย ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า คำเบิกความของนายอุเทนเจ้าพนักงานที่ดินถือว่าเกิดผลสำเร็จตามคำท้าแล้วหรือไม่ คดีนี้คู่ความตกลงท้ากันว่า หากเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินแปลงพิพาทแล้ว หากผลการรังวัดออกมาว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินซึ่งทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยแล้ว และที่ดินแปลงพิพาทเนื้อที่ทั้งหมดรวมอยู่ในที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เล่ม 4 หน้า 25 สารบบเล่มหมู่ที่ 9 หน้า 525 ตำบลหนองบุ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานีแล้วโจทก์ยอมแพ้ แต่หากเจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถทำการรังวัดได้ว่าที่ดินแปลงพิพาทนั้นมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเนื้อที่ดินพิพาททั้งหมดนั้นรวมอยู่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวจำเลยยอมแพ้คดี ซึ่งจะเห็นได้ว่าสาระสำคัญแห่งคำท้าดังกล่าวคือคู่ความตกลงท้ากันโดยถือเอาผลของการรังวัดที่ดินแปลงพิพาทของเจ้าพนักงานที่ดินว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งทางราชการได้ออกให้แก่จำเลยหรือไม่ เป็นข้อแพ้ชนะในคดี ดังนั้นการที่นายอุเทนเจ้าพนักงานที่ดินเพียงแต่ออกไปรังวัดทำแผนที่ที่ดินแปลงพิพาทตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยนำชี้ แล้วมาเบิกความต่อศาลตอบคำถามของทนายโจทก์ว่า ที่ดินแปลงพิพาทไม่สามารถรังวัดหรือตรวจสอบได้ว่าอยู่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 4 หน้าที่ 25 ตำบลหนองบุ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี หรือไม่ และไม่ทราบว่าที่ดินแปลงพิพาทมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วหรือไม่ โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่สามารถรังวัดหรือตรวจสอบได้ดังที่เบิกความทั้งตามถ้อยคำสำนวนในคดีนี้ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการตรวจสอบแนวเขตของที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวของจำเลยแล้วด้วย เช่นนี้กรณีจึงไม่อาจถือว่าคำเบิกความของนายอุเทนทำให้เกิดผลสำเร็จตามคำท้าที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาตามคำท้าได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถตอบได้ว่าที่ดินพิพาทมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วหรือไม่ และที่ดินพิพาทนั้นอยู่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 4 หน้า 25 สารบบเล่มหมู่ที่ 9 หน้า 525 ตำบลหนองบุ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี หรือไม่ จำเลยจึงแพ้คดีตามคำท้านั้น เป็นคำวินิจฉัยที่ยึดถือเพียงตามถ้อยคำตอนท้ายที่คู่ความตกลงท้ากันในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 (สารบัญอันดับที่ 57) ที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ว่า “…แต่หากเจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถรังวัดได้ว่า ที่ดินแปลงพิพาทนั้นมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเนื้อที่ดินที่พิพาททั้งหมดนั้น รวมอยู่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เล่ม 4 หน้า 25 สารบบเล่มหมู่ที่ 9 หน้า 525 ตำบลหนองบุ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี แล้ว จำเลยยอมแพ้คดี” โดยมิได้นำข้อความตอนต้นที่ศาลชั้นต้นบันทึกข้อตกลงแห่งการท้ากันด้วยว่า “…หากผลการรังวัดของเจ้าพนักงานที่ดินออกมาว่าที่ดินแปลงพิพาทนั้นเป็นที่ดินซึ่งทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยแล้ว และที่ดินแปลงพิพาทเนื้อที่ทั้งหมดรวมอยู่ในที่ดินเล่ม 4 หน้าที่ 25 สารบบเล่มหมู่ที่ 9 หน้า 525 ตำบลหนองบุ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี แล้ว โจทก์ยอมแพ้คดี…” มาประกอบการพิจารณาถึงสาระสำคัญแห่งการตกลงท้ากันดังกล่าวด้วย คำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองที่ถือว่าคำเบิกความของนายอุเทนเจ้าพนักงานที่ดินเป็นการครบเงื่อนไขแห่งข้อตกลงตามคำท้า ทำให้คำท้าเกิดผลสำเร็จ จำเลยต้องแพ้คดีตามคำท้านั้น จึงเป็นการวินิจฉัยที่ยึดถือตามข้อความในข้อตกลงตอนท้ายอันเป็นข้อความเพียงบางส่วนแห่งข้อตกลงท้ากันเท่านั้น หาได้พิจารณาประกอบข้อตกลงตอนต้น เพื่อให้ถูกต้องตรงตามสาระสำคัญแห่งการตกลงท้ากัน อันเป็นเจตนาที่แท้จริงของคู่ความไม่ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าคำเบิกความของนายอุเทนเกิดผลสำเร็จตามคำท้า และพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้าจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อคำท้าไม่บรรลุผลสำเร็จตามคำท้า กรณีย่อมถือเสมือนหนึ่งว่าไม่มีคำท้าอยู่เลย ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ทั้งสองและพยานจำเลยต่อไป ดังนั้น แม้ปรากฏจากรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 27 ธันวาคม 2543 (สารบัญอันดับ 70) ที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ว่า “…เจ้าพนักงานที่ดินได้เบิกความตอบทนายโจทก์จนจบปากเสร็จแล้ว ทนายโจทก์แถลงหมดพยานเพียงเท่านี้” ส่วนฝ่ายจำเลยมิได้แถลงอะไรซึ่งมีผลเท่ากับว่าคู่ความไม่ติดใจสืบพยานหลักฐานต่อไป ศาลก็จำต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามรูปคดีก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาที่คู่ความได้ดำเนินการไปดังกล่าวอาจเกิดจากการสำคัญผิดในผลแห่งคำท้าดังเช่นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาก็ได้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาฎีกาให้คู่ความฟัง เพื่อให้คู่ความได้ทราบและเข้าใจถึงผลแห่งคำท้าเสียก่อนว่าคำท้ายังไม่บรรลุผลสำเร็จแล้วให้คู่ความแถลงถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปใหม่…
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่