คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4147/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนนั้น มีความผิดโดยไม่คำนึงถึงว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหญิงนั้นยินยอมก็มิได้หมายความว่า เด็กหญิงนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย เมื่อเด็กหญิง ด. เด็กหญิง ส. และเด็กหญิง อ. ถูกกระทำชำเรา แม้เด็กหญิงทั้งสามจะยินยอมก็เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดข้อหานี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนเด็กหญิง ด. เด็กหญิง ส. และเด็กหญิง อ. ตามลำดับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดข้อหานี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2)
จำเลยโทรศัพท์นัดหมายให้ ย. พาเพื่อนไปขายบริการทางเพศแก่จำเลย ย. จึงชักชวนเด็กหญิง ด. เด็กหญิง อ. และเด็กหญิง ส. ไปกระทำการดังกล่าว แล้วจำเลยรับตัวเด็กหญิงทั้งสามไว้กระทำชำเราโดยเด็กหญิงทั้งสามยินยอมที่โรงแรม ผ. เป็นการล่วงอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 5 และที่ 3 ตามลำดับ โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำชำเราเด็กหญิง ด. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิง ด. โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร กระทำชำเราเด็กหญิง อ. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิง อ. โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และกระทำชำเราเด็กหญิง อ. โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และกระทำชำเราเด็กหญิง ส. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิง ส. โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการรับไว้หรือล่อไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยทุจริตเพราะจำเลยหาได้รับเด็กหญิงทั้งสามไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ เนื่องจากจำเลยมีเจตนาประสงค์จะกระทำชำเราเด็กหญิงทั้งสามเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 312 ตรี วรรคสอง

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณารวมกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1044/2544 ของศาลชั้นต้น แต่คดีสำนวนดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 312 ตรี, 317, 319 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ป. มารดาเด็กหญิง ด. จ. มารดาเด็กหญิง ส. ค. ผู้ปกครองเด็กหญิง อ. และ ศ. มารดาเด็กหญิง อ. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ป. ร. และ ค. เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหากระทำชำเรา และความผิดต่อเสรีภาพ ส่วน ศ. เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหากระทำชำเราเด็กหญิง อ. โดยเรียกผู้ร้องดังกล่าวเป็นโจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 4 กระทง จำคุก 16 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ตรี วรรคสอง, 317 วรรคสาม ด้วย ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 4 กระทง จำคุก 20 ปี สำหรับความผิดฐานกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก และฐานโดยทุจริต ล่อไป หรือพาไปซึ่งเด็กตามมาตรา 312 ตรี วรรคสอง เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราตามมาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 16 ปี รวมจำคุก 36 ปี ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 4 เข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหากระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุเด็กหญิง ด. มีอายุ 13 ปีเศษ เป็นบุตรโจทก์ร่วมที่ 2 เด็กหญิง ส. มีอายุ 14 ปีเศษ เป็นบุตรโจทก์ร่วมที่ 3 และเด็กหญิง อ. มีอายุ 14 ปีเศษ เป็นบุตรโจทก์ร่วมที่ 5 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ผู้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนนั้น มีความผิดโดยไม่คำนึงถึงว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหญิงนั้นยินยอมก็มิได้หมายความว่า เด็กหญิงนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย เมื่อเด็กหญิง ด. เด็กหญิง ส. และเด็กหญิง อ. ถูกกระทำชำเรา แม้เด็กหญิงทั้งสามจะยินยอมก็เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดข้อหานี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนเด็กหญิง ด. เด็กหญิง ส. และเด็กหญิง อ. ตามลำดับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (1) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดข้อหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 (2) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
…ฯลฯ…ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเพราะจำเลยไม่รู้ว่าเด็กหญิง ด. เด็กหญิง อ. และเด็กหญิง ส. มีอายุยังไม่เกิน 15 ปี นั้น เห็นว่า ความเข้าใจผิดของจำเลยเกี่ยวกับอายุของเด็กหญิง ด. เด็กหญิง อ. และเด็กหญิง ส. จะเป็นความเข้าใจผิดจริงดังที่จำเลยยกขึ้นฎีกาหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงและจำเลยไม่เคยยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวอ้างและนำสืบพยานในศาลชั้นต้น จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยก็เป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยรับราชการตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2506 จนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทในวันที่ 30 กันยายน 2540 โดยจำเลยปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความวิริยะ อุตสาหะ เสียสละ และประกอบคุณงามความดีเป็นที่ประจักษ์มาก่อนจนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ถึงชั้นสูงสุด ขณะเกิดเหตุจำเลยซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 นั้น เห็นว่า วุฒิภาวะเช่นจำเลยดังกล่าวไม่ใช่ข้อบ่งชี้เสมอไปที่จะไม่กระทำความผิดเสียเลย ดังนั้น พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยโทรศัพท์นัดหมายให้ ย. พาเพื่อนไปขายบริการทางเพศแก่จำเลย ย. จึงชักชวนเด็กหญิง ด. เด็กหญิง อ. และเด็กหญิง ส. ไปกระทำการดังกล่าว แล้วจำเลยรับตัวเด็กหญิงทั้งสามไว้กระทำชำเราโดยเด็กหญิงทั้งสามยินยอมที่โรงแรมผกาอินท์ เป็นการล่วงอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 5 และที่ 3 ตามลำดับ โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำชำเราเด็กหญิง ด. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิง ด. โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร กระทำชำเราเด็กหญิง อ. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิง อ. โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และกระทำชำเราเด็กหญิง ส. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิง ส. โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการรับไว้หรือล่อไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยทุจริต เพราะจำเลยหาได้รับเด็กหญิงทั้งสามไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ เนื่องจากจำเลยมีเจตนาประสงค์จะกระทำชำเราเด็กหญิงทั้งสามเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ตรี วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวมาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ตรี วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share