แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยก็ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของ น. ที่นำมาฝากจำเลยไว้ คำให้การดังกล่าวพนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นในวันเดียวกันกับที่จำเลยถูกจับกุม ตามพฤติการณ์เชื่อได้ว่าจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนด้วยความสัตย์จริง โดยไม่ทันมีเวลาคิดไตร่ตรองหาลู่ทางแก้ตัวให้พ้นผิดจึงใช้เป็นหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134
ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีพฤติการณ์ในการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ตรงกันข้ามกลับมีใจความตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ซึ่งระบุว่า จำเลยให้การรับต่อพนักงานสอบสวนว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของ น. ที่นำไปฝากจำเลยไว้ เมื่อ น. อยากเสพเวลาใดก็จะไปเอาจากจำเลยมาเสพครั้งละ 1 ซองบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย เป็นพยานเอกสารที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลเพื่อสนับสนุนคำพยานบุคคลของโจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยปรุงแต่งเรื่องราวขึ้นเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง จึงต้องรับฟังว่าจำเลยให้การในชั้นสอบสวนไปตามความสัตย์จริงดังกล่าวแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้ว่าจำเลยเพียงแต่รับฝากเมทแอมเฟตามีนของกลางจาก น. เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบถึงพฤติการณ์แวดล้อมกรณีว่าจำเลยครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ โดยมีเจตนาเพื่อขาย จ่ายแจก แลกเปลี่ยน หรือให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด จึงไม่อาจสันนิษฐานในทางเป็นผลร้ายแก่จำเลยว่าจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวนมากเกินความจำเป็นที่จำเลยมีไว้เพื่อเสพเองแสดงว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายโดยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน จึงไม่ชอบ
ปัญหาที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 ความผิดตามฟ้องของโจทก์จึงรวมถึงการมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 67 อยู่ด้วยถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ซึ่งมีระวางโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสุดท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 110 เม็ด น้ำหนัก 9.820 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ให้จำคุก 8 ปี คำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 5 ปี 4 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ร้อยตำรวจเอกไพชยนต์สุขเกษม และจ่าสิบตำรวจศิรชัช อรุณเกล้า เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมกันตรวจค้นและจับกุมจำเลย ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนเม็ดสีส้มบรรจุอยู่ในซองพลาสติกซองละ 10 เม็ด จำนวน 11 ซอง อยู่ในกระเป๋าเสื้อชั้นในที่จำเลยสวมอยู่พยานจึงยึดไว้เป็นของกลางและสอบถามจำเลยเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว จำเลยบอกว่าเป็นของนายนุมัติที่นำมาฝากให้จำเลยเก็บไว้ พยานกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกันควบคุมตัวจำเลย โดยแจ้งข้อหาว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยรับสารภาพและยอมลงชื่อในบันทึกการจับกุมด้วยความสมัครใจ ตามเอกสารหมาย จ.2 นอกจากนี้แล้วยังค้นพบเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่งที่นายนุมัติได้ควบคุมตัวนายนุมัติไปดำเนินคดีด้วย ในชั้นสอบสวนพันตำรวจโทประเสริฐ กีเกษมศรี พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำเลยก็ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของนายนุมัติที่นำมาฝากจำเลยไว้ ตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.7 คำให้การดังกล่าวพนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นในวันเดียวกันกับที่จำเลยถูกจับกุมตามพฤติการณ์เชื่อได้ว่าจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนด้วยความสัตย์จริงโดยไม่ทันมีเวลาคิดไตร่ตรองหาลู่ทางแก้ตัวให้พ้นผิดจึงใช้เป็นหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ข้อเท็จจริงฟังได้ดังคำพยานโจทก์ว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางได้จากความครอบครองของจำเลย
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 66 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต ในข้อหาความผิดที่มีอัตราโทษสูงเช่นนี้แม้ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพต่อศาลศาลก็ยังต้องรับฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดโจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบให้ประจักษ์ชัดปราศจากสงสัยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกไพชยนต์กับจ่าสิบตำรวจศิรชัชไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีพฤติการณ์ในการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษแต่ประการใด ตรงกันข้ามพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวกลับเบิกความตรงกันว่า ก่อนเกิดเหตุพยานสืบทราบว่านายนุมัติบุตรของจำเลยเป็นผู้ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงได้ขอหมายค้นจากพันตำรวจโทอิทธิพลไปทำการตรวจค้น คำเบิกความองร้อยตำรวจเอกไพชยนต์กับจ่าสิบตำรวจศิรชัชเกี่ยวกับพฤติการณ์ตามทางสืบสวนสอดคล้องกับเหตุการณ์ในขณะที่ตรวจพบของกลางที่จำเลย ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสองปากต่างเบิกความยืนยันว่าจำเลยรับต่อพยานว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ยึดได้จากจำเลยมิใช่ของจำเลยแต่เป็นของนายนุมัติที่นำมาฝากจำเลยไว้จ่าสิบตำรวจศิรชัชเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยด้วยว่า พยานได้สอบถามนายนุมัติเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนของกลาง นายนุมัติก็รับว่าเป็นของตนที่ฝากไว้แก่จำเลยคำเบิกความของพยานโจทก์เหล่านี้มีใจความตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่พันตำรวจโทประเสริฐบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งระบุว่า จำเลยให้การรับต่อพันตำรวจโทประเสริฐว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของนายนุมัติที่นำไปฝากจำเลยไว้ เมื่อนายนุมัติอยากเสพเวลาใดก็จะไปเอาจากจำเลยมาเสพครั้งละ 1 ซอง บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเอกสารหมาย จ.7เป็นพยานเอกสารที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลเพื่อสนับสนุนคำพยานบุคคลของโจทก์เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยปรุงแต่งเรื่องราวขึ้นเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่าจำเลยให้การในชั้นสอบสวนไปตามความสัตย์จริงดังกล่าวแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้ว่าจำเลยเพียงแต่รับฝากเมทแอมเฟตามีนของกลางจากนายนุมัติเมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบถึงพฤติการณ์แวดล้อมกรณีว่าจำเลยครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ โดยมีเจตนาเพื่อขายจ่าย แจก แลกเปลี่ยนหรือให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด จึงไม่อาจสันนิษฐานในทางเป็นผลร้ายแก่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องของโจทก์ได้ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวนมากเกินความจำเป็นที่จำเลยมีไว้เพื่อเสพเองแสดงว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายโดยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เพราะการที่จำเลยรับฝากเมทแอมเฟตามีนของกลางจากนายนุมัติ โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษที่จะจำหน่าย จ่าย แจกให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นการครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ยกความข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและลงโทษมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยควรมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 นั้น ความผิดตามฟ้องของโจทก์รวมถึงการมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 67 อยู่ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่างแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองเมื่อทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวซึ่งมีระวางโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสุดท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 3 ปี จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3