คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4146/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 และพนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยที่ 2 นั้น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22)ฯ มาตรา 4 และมาตรา 38 ซึ่งได้บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 7/1 และมาตรา 134/4 ที่บัญญัติให้มีการแจ้งสิทธิดังกล่าวแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหายังมิได้ออกใช้บังคับ ประกอบกับ ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 7/1 และมาตรา 134/4 มาใช้บังคับแก่คดีที่มีการจับกุมและสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงสิทธิต่างๆ ดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมายขณะที่มีการจับกุมและสอบสวน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุไม่เกิน 20 ปี แต่รู้ผิดชอบแล้ว จึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในห้า คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 4 ปี รวมจำคุกคนละ 8 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก จำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยปรับบทลงโทษว่าจะใช้กฎหมายเดิมหรือกฎหมายใหม่ในส่วนใดบังคับแก่จำเลยที่ 2 ถือเป็นการปรับบทลงโทษบทเดิมตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่แม้จะแก้โทษที่ลงแก่จำเลยที่ 2 ด้วย ก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า พนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลยที่ 2 โดยหลอกลวงจำเลยที่ 2 ว่าเป็นการสอบปากคำในคดีการพนัน ข้อเท็จจริงที่พยานโจทก์เบิกความยังไม่สอดคล้องต้องกันไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้นั้นเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงสิทธิในการแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งจำเลยที่ 2 ไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 และพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบก่อนว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ และมีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า ในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 และพนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยที่ 2 นั้น พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 4 และมาตรา 38 ซึ่งได้บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 7/1 และมาตรา 134/4 ที่บัญญัติให้มีการแจ้งสิทธิดังกล่าวแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหายังมิได้ออกใช้บังคับ ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 7/1 และมาตรา 134/4 มาใช้บังคับแก่คดีที่มีการจับกุมและสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับจึงต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงสิทธิต่างๆ ดังกล่าวจึงชอบแล้ว
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 2 ตามบันทึกการจับกุมมารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่หรือไม่ เห็นว่า ในขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาคดีนี้ยังมิได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 19 ให้ยกเลิกความในมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้ใช้ข้อความใหม่แทนออกใช้บังคับ โดยมาตรา 84 ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป นอกจากนี้มาตรา 84 วรรคสุดท้าย ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า “ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานแต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตามมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี” แสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่มุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐานต่อเมื่อบทบัญญัติเรื่องการแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว หาได้มีความหมายว่าเมื่อศาลจะมีคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งแม้เป็นเวลาภายหลังจากที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว จะต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมตามบันทึกการจับกุมมารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 2 ด้วยไม่ เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และโจทก์ได้อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 โดยชอบแล้ว ประกอบกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 84 วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลยุติธรรมก่อนวันที่กฎหมายใหม่ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 2 ตามบันทึกการจับกุมมารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลงโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายเดิม จึงชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายประการสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 นำคำเบิกความของจำเลยที่ 2 มารับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 243 นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้ใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงของโจทก์จนเพียงพอรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 แล้ว เพียงแต่นำคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่เจือสมกับทางนำสืบของโจทก์มารับฟังสนับสนุนพยานหลักฐานของโจทก์ให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 หาได้นำคำเบิกความของจำเลยที่ 2 มารับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 243 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาแต่อย่างใดไม่ ฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 2 ล้วนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share