แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264, 265, 268 และ 341 มีอายุความฟ้อง 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) จำเลยกระทำความผิดระหว่างต้นเดือนมกราคม 2537 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 14 มีนาคม 2548 คดีของโจทก์สำหรับจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าว จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อระหว่างต้นเดือนมกราคม 2537 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยปลอมบัตรประจำตัวข้าราชการสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยโสธรอันเป็นเอกสารราชการ โดยจำเลยนำแบบฟอร์มบัตรประจำตัวข้าราชการมาพิมพ์ข้อความลงในแบบฟอร์มดังกล่าวให้ปรากฏข้อความว่า บัตรประจำตัวข้าราชการสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยโสธร เลขที่ 102/2537 ชื่อนางสาวรัญญา หมู่โลหิต “โอ” อยู่บ้านเลขที่ 4 ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร แล้วจำเลยได้ลงลายมือชื่อปลอมของผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรในช่องผู้ออกบัตรและลงลายมือชื่อปลอมของนางสาวรัญญาในช่องลายมือชื่อผู้ถือบัตร และจำเลยได้นำรูปถ่ายของตนปิดลงในช่องผู้ถือบัตร แล้วประทับตรายางที่มีรูปตราครุฑและตัวหนังสือข้อความว่าสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยโสธรลงในบัตรประจำตัวข้าราชการที่จำเลยทำปลอมขึ้นทั้งฉบับดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นบัตรประจำตัวข้าราชการสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยโสธรเอกสารราชการที่แท้จริงที่ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรออกให้แก่นางสาวรัญญา โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาวรัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรมปศุสัตว์และประชาชน เหตุเกิดที่ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอป่าติ้ว ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร และตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ดเกี่ยวพันกัน และเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 เวลากลางวัน จำเลยทำเอกสารสิทธิปลอมขึ้นทั้งฉบับ โดยจำเลยนำเอาแบบฟอร์มใบถอนเงินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย มาเขียนกรอกข้อความว่า นางสาวรัญญาซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ เลขที่ 180 – 4 – 01934 – 5 ที่ฝากเงินไว้กับธนาคารผู้เสียหาย สาขาหัวหมาก ขอถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว 500,000 บาท โดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมของนางสาวรัญญาในช่องเจ้าของบัญชีผู้ขอถอนเงินและผู้รับเงิน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าใบถอนเงินดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ธนาคารผู้เสียหาย นางสาวรัญญาและประชาชน แล้วจำเลยโดยทุจริตหลอกลวงนางวิไลพรและนางสาวอรวรรณ พนักงานธนาคารผู้เสียหายประจำสาขาจังหวัดร้อยเอ็ดด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อบุคคลทั้งสองว่าจำเลยคือนางสาวรัญญาเจ้าของบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ดังกล่าว มีความประสงค์จะขอถอนเงิน 500,000 บาท แล้วโอนเข้าบัญชีเงินฝากของผู้มีชื่อที่ธนาคารผู้เสียหาย สาขายโสธร โดยจำเลยนำสมุดคู่ฝากบัญชีสะสมทรัพย์ บัตรประจำตัวข้าราชการอันเป็นเอกสารราชการและใบถอนเงินอันเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลยทำปลอมดังกล่าวอ้างแสดงต่อนางวิไลพรและนางสาวอรวรรณ จนเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองหลงเชื่อว่าบัตรประจำตัวข้าราชการและใบถอนเงินที่จำเลยทำปลอมขึ้นดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง และจำเลยคือนางสาวรัญญาเจ้าของบัญชีเงินฝากซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยมิใช่นางสาวรัญญา จำเลยมิได้เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยโสธร และนางสาวรัญญามิได้ขอถอนเงิน 500,000 บาท จากบัญชีเงินฝากเลขที่ดังกล่าวแต่อย่างใด ด้วยการหลอกลวงและการใช้เอกสารปลอมดังกล่าว เป็นเหตุให้ธนาคารผู้เสียหายถอนเงิน 500,000 บาท ออกจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ 180 – 4 – 01934 – 5 ของนางสาวรัญญา แล้วโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้มีชื่อที่ธนาคารผู้เสียหาย สาขายโสธร ตามความประสงค์ของจำเลย แล้วจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ธนาคารผู้เสียหาย นางสาวรัญญา นางวิไลพร นางสาวอรวรรณและประชาชน เหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 265, 268, 341 ให้จำเลยคืนเงิน 500,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเอกสารราชการ จำคุก 3 ปี ฐานปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม และฉ้อโกง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 500,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงิน 400,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 และ 341 มีอายุความฟ้อง 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) จำเลยกระทำความผิดระหว่างต้นเงินมกราคม 2537 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 14 มีนาคม 2548 คดีของโจทก์สำหรับจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าว จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธิดำเนินคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรีบบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อคดีขาดอายุความพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง