คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4143/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินไปแล้ว หากจำเลยผู้รับแจ้งการประเมินไม่นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระภายในกำหนด กฎหมายให้ถือว่าเป็นภาษีอากรค้าง ซึ่งเจ้าพนักงานมีอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ที่จะสั่งยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้โดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาล ดังนั้นการแจ้งการประเมินภาษีอากรย่อมเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1096 ไม่ใช่บทบัญญัติให้ผู้ถือหุ้นรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัท จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจึงไม่มีหน้าที่ชำระภาษีที่บริษัทจำเลยที่1 ค้างชำระต่อกรมสรรพากรโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ไม่ชำระภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระต่อโจทก์จึงหาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทั้งไม่ใช่กรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าหุ้นค้างชำระแทนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ในนามของโจทก์ได้ เพราะตามฟ้องไม่มีข้อเท็จจริงให้เห็นเช่นนั้นศาลภาษีอากรกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของจำเลยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่มิได้อุทธรณ์ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระเงินค่าภาษีของบริษัทจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8ร่วมรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่แต่ละคนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนเป็นผู้ถือ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและมิได้เป็นลูกหนี้โจทก์
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระหนี้ค่าภาษีตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 และที่ 4ถึงที่ 8 อุทธรณ์ว่า การแจ้งประเมินไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเพราะไม่ใช่การฟ้องคดีนั้น เห็นว่าเมื่อเจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินไปแล้ว หากจำเลยผู้รับแจ้งประเมินไม่นำเงินภาษีอากรไปชำระภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ กฎหมายให้ถือว่าเป็นภาษีอากรค้าง ซึ่งเจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะสั่งยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยผู้รับแจ้งการประเมินได้โดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 12การประเมินดังกล่าวจึงมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี ดังนั้นการแจ้งประเมินภาษีอากรย่อมเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 อีกว่าจำเลยที่กล่าวแล้วซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและยังชำระค่าหุ้นไม่เต็มมูลค่จะต้องร่วมรับผิดในหนี้ของบริษัทร่วมกับจำเลยที่ 1 ในส่วนของมูลค่าหุ้นที่ตนยังชำระไม่ครบหรือไม่ เห็นว่าไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้ผู้ถือหุ้นร่วมกับบริษัทรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัท ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1096 บัญญัติถึงผู้ถือหุ้นว่ารับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ เห็นว่า เป็นส่วนหนึ่งของบทบัญญัติที่ให้คำนิยามว่าบริษัทจำกัดคืออะไร จึงไม่ใช่บทกฎหมายที่บัญญัติให้ผู้ถือหุ้นรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัท ผู้ถือหุ้นจึงไม่มีหน้าที่ชำระภาษีที่บริษัทค้างชำระต่อกรมสรรพากรซึ่งเป็นเจ้าหนี้ การที่จำเลยที่ 2และที่ 4 ถึงที่ 8 ไม่ชำระภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระต่อโจทก์จึงหาได้เป็นการโต้แย้งสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 บัญญัติไว้ไม่ทั้งไม่ใช่กรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าหุ้นค้างชำระแทนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ในนามของโจทก์ได้ เพราะตามฟ้องไม่มีข้อเท็จจริงให้เห็นเช่นนั้น ฉะนั้นที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาคดีในปัญหาข้อนี้มา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและมิได้อุทธรณ์ได้ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ฟ้องโจทก์สำหรับคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 2ถึงที่ 8 ให้ยกนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share