แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผยที่บ้านที่ครอบครัวโจทก์เช่าอยู่จนโจทก์ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4 เดือนก็เลิกร้างกันไป ต่อมาเมื่อโจทก์คลอดบุตรเป็นเด็กหญิงธ.จำเลยได้ให้เพื่อนของจำเลยนำทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยไปแจ้งการเกิดพร้อมกับโจทก์ ดังนี้ การที่โจทก์ไปแจ้งการเกิดของเด็กหญิงธ. จึงอยู่ในความรู้เห็นยินยอมของจำเลย และโจทก์จำเลยได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผยในระยะเวลาที่โจทก์อาจตั้งครรภ์ได้โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยรับเด็กหญิงธ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยได้ การเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1557(3) คือต้องเริ่มนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไป การให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่เด็กหญิงธ.ผู้เยาว์จึงต้องเริ่มตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาไม่ใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 20 นั้นการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย นายทะเบียนสามารถจดทะเบียนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วได้โดยไม่จำต้องอาศัยการแสดงเจตนาของจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธ.เป็นบุตร หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยอีก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส จนโจทก์ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4 เดือน จึงแยกทางกันต่อมา โจทก์คลอดบุตรคือเด็กหญิงธันยาภรณ์ โดยจำเลยให้คำรับรองว่าเป็นบุตร และให้ความอุปการะเลี้ยงดูเป็นครั้งคราว ยินยอมให้ใช้นามสกุล แต่จำเลยไม่จดทะเบียนรับรองว่าเด็กหญิงธันยาภรณ์เป็นบุตรขอให้พิพากษาว่า เด็กหญิงธันยาภรณ์ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันที่ศาลพิพากษาจนกว่าเด็กหญิงธันยาภรณ์จะบรรลุนิติภาวะ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ไม่เคยรับรองว่า เด็กหญิงธันยาภรณ์เป็นบุตรหากฟังได้ว่าเด็กหญิงธันยาภรณ์เป็นบุตรของจำเลย จำเลยก็สามารถจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูได้เป็นเงินเดือนละ 500 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เด็กหญิงธันยาภรณ์ ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ให้จำเลยจดทะเบียนรับรองว่าผู้เยาว์เป็นบุตร หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเด็กและเยาวชนพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงธันยาภรณ์ ผู้เยาว์เป็นเงินเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะอีกส่วนหนึ่งด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบและตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยเคยร่วมประเวณีกับโจทก์ และเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2529โจทก์คลอดเด็กหญิงธันยาภรณ์บุตรผู้เยาว์ ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม2529 โจทก์ได้ไปแจ้งการเกิดของผู้เยาว์ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี โดยนายทองปอน งามหลอด นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุบลราชธานี เป็นผู้สอบสวนพยานหลักฐานไว้ตามเอกสารหมาย ป.จ.1และ ป.จ.2 ปัญหาว่าเด็กหญิงธันยาภรณ์เป็นบุตรของโจทก์ที่เกิดกับจำเลยหรือไม่ ซึ่งมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์โดยเปิดเผยหรือไม่ โจทก์เบิกความว่าโจทก์กับจำเลยอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตั้งแต่เดือนกันยายน 2527 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2529 ที่บ้านเลขที่ 14ถนนธรรมวิถี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านที่ครอบครัวของจำเลย (ที่ถูกน่าจะเป็นโจทก์) เช่าอยู่ ระหว่างอยู่กินกับจำเลยโจทก์ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4 เดือน และในเดือนกุมภาพันธ์ 2529 ก็เลิกร้างกันไป ครั้นวันที่ 28 มิถุนายน 2529โจทก์ก็คลอดบุตรคือเด็กหญิงธันยาภรณ์ และยังมีนางมะลัย วจีภูมิพยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า โจทก์มีสามีคือจำเลย แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เมื่อต้นปี 2529 โจทก์จำเลยพักอยู่ที่บ้านเลขที่ 14ดังกล่าว ซึ่งพยานบิดาโจทก์ และพี่น้องโจทก์อาศัยอยู่ด้วยกันโดยจำเลยมาอยู่กินกับโจทก์อย่างเปิดเผย จำเลยให้เงินช่วยค่าใช้จ่ายในบ้านแก่โจทก์เดือนละ 1,000-2,000 บาท โจทก์จำเลยเลิกกันเพราะมีผู้หญิงมาอาละวาด แต่ไม่ทราบว่าหญิงนั้นมีความสัมพันธ์อย่างไรกับจำเลย และพยานทราบภายหลังโดยโจทก์เล่าให้ฟังว่าจำเลยมีภริยาอยู่แล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางโกศรี สุภาสอน พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า พยานรู้จักโจทก์เนื่องจากเคยอยู่บ้านตรงข้ามกับโจทก์เคยเห็นจำเลยขับรถให้โจทก์นั่ง และโจทก์จำเลยเคยมาซื้อส้มตำที่ร้านพยานรับประทานด้วยกัน ที่ทราบว่าจำเลยเป็นสามีเพราะสอบถามโจทก์ โจทก์ว่าเป็นสามีซึ่งมาพักอาศัยที่บ้านโจทก์ นางมะลัยพยานโจทก์ แม้จะเป็นมารดาของโจทก์เอง แต่ก็เบิกความสอดคล้องกับโจทก์เป็นอย่างดีน่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า นางมะลัยในฐานะพยานโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่าไม่เคยบอกให้โจทก์จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้องตามประเพณี เป็นการผิดวิสัยของมารดานั้นก็ปรากฏชัดว่าจำเลยนี้เป็นคนมีภริยาแล้ว การที่มารดาโจทก์จะคะยั้นคะยอให้จำเลยมาปฏิบัติตามประเพณีเพื่อทำการสมรสกับโจทก์ซึ่งเป็นบุตรของตนนั้น กลับเห็นว่าเป็นการผิดประเพณีและศีลธรรมอันดีซึ่งมารดาที่ดีไม่ควรประพฤติ ประกอบกับโจทก์ก็บรรลุนิติภาวะแล้วจึงเป็นเรื่องที่โจทก์จะตัดสินใจในเรื่องส่วนตัวของตนเองได้แล้วการที่นางมะลัยมารดาโจทก์ไม่บอกให้โจทก์จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้องตามประเพณีจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัย สำหรับข้อที่จำเลยฎีกาว่านางมะลัยเบิกความแตกต่างกับโจทก์ในเรื่องคนสนิทของจำเลยที่นำเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยมาให้โจทก์โดยโจทก์เบิกความว่าชื่อนายวิชัย แต่นางมะลัยเบิกความว่าชื่อนายดมซึ่งแตกต่างกันนั้นเมื่อโจทก์และนางมะลัยเบิกความตรงกันในข้อที่ว่าจำเลยให้เงินค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ และได้ความจากนายวิชัยซึ่งเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า นายวิชัยทำงานอยู่กับจำเลยเป็นเวลา 10 ปีแล้วและโจทก์ก็ยืนยันว่านายวิชัยเป็นคนสนิทของจำเลย นำเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูมามอบให้ ดังนั้น กรณีนางมะลัยซึ่งไม่คุ้นเคยกับนายวิชัยจะเรียกชื่อผิดไปบ้างก็ไม่ทำให้น้ำหนักคำเบิกความของโจทก์เสียไปสำหรับนางโกศรีนั้นปรากฏว่าเคยมีอาชีพค้าขายอาหารประเภทส้มตำและอาหารอื่นที่หน้าบ้านโจทก์และรู้จักกับโจทก์เพราะมีบ้านอยู่ตรงข้ามกัน เคยเห็นจำเลยขับรถให้โจทก์นั่งและเคยมาซื้อส้มตำที่ร้านของตน และโจทก์ก็บอกว่าจำเลยเป็นสามีพยานเห็นจำเลยมาพักที่บ้านโจทก์ มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา ดังนั้นแม้พยานปากนี้จะเบิกความว่าไม่ปรากฏมีการจัดงานเลี้ยงในการสมรสของโจทก์จำเลยโจทก์ไม่เคยเล่าเรื่องจำเลยมอบเงินให้โจทก์ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเพราะจำเลยมีภริยาอยู่แล้วและไปอยู่กินกับหญิงอื่น จึงไม่ใช่เรื่องจะต้องจัดงานเลี้ยงให้เอิกเกริก ส่วนการให้เงินอุปการะเลี้ยงดูก็เป็นเรื่องภายในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องสมควรจะไปบอกเล่าให้คนภายนอกรู้ คำพยานปากนี้จึงไม่คลุมเคลือ แต่ตรงข้ามกลับสอดคล้องกันกับคำเบิกความของโจทก์และมารดาโจทก์ จึงเชื่อฟังได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์จำเลยเคยอยู่กินกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผย จนโจทก์มีครรภ์และต่อมาก็คลอดบุตรเป็นเด็กหญิงธันยาภรณ์ผู้เยาว์ในคดีนี้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่าที่โจทก์ไปแจ้งเกิดบุตรผู้เยาว์จำเลยรู้เห็นยินยอมหรือไม่ โจทก์เบิกความว่าได้ไปแจ้งเกิดเด็กหญิงธันยาภรณ์ในวันที่ 15 ธันวาคม2529 เหตุที่แจ้งช้าเนื่องจากไม่ได้พบปะกับจำเลย จำเลยมีธุรกิจต่างจังหวัด และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ได้ไปพบจำเลยที่ที่ทำงานของจำเลย จำเลยนั่งอยู่ในห้องทำงานแต่ไม่ได้คุยกันจำเลยให้คนสนิทชื่อนายวิชัย สุขะสมิต ออกมาพบโจทก์ โจทก์พูดเรื่องให้จำเลยรับรองบุตร นายวิชัยจึงเข้าไปบอกจำเลย แล้วนายวิชัยออกมาพร้อมหลักฐานประกอบด้วยใบรับรองว่าเด็กหญิงธันยาภรณ์เป็นบุตร ทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลย ดังนั้นเอกสารหมาย จ.2 ที่ปรากฏเลขบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยจึงได้มาโดยวิธีนี้ และมีนายทองปอน งามหลอด นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุบลราชธานีผู้รับแจ้งเกิดเบิกความว่า สำหรับผู้แจ้งเกิดเกินกำหนดต้องมีหลักฐานพยานบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปที่รู้เห็นการเกิด พยานได้สอบปากคำนายวิชัยและนางเฉลิมศรี สุริยะโรจน์ไว้ตามบันทึกเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2 แล้วรวมเรื่องส่งนายอำเภอเพื่อพิจารณาอนุญาตออกสูติบัตร ซึ่งนายอำเภอได้อนุญาตให้ออกสูติบัตรปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 เห็นว่า คำเบิกความของโจทก์ปรากฏชัดว่าโจทก์ได้รับเอกสารรับรองว่าเด็กหญิงธันยาภรณ์เป็นบุตรจำเลยทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยนำไปแจ้งเกิดพร้อมกับนายวิชัย โดยนายทองปอนได้สอบปากคำนายวิชัยไว้เป็นพยานตามบันทึกปากคำนายวิชัยเอกสารหมาย ป.จ.1 ก็ระบุชัดว่า โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา และเกิดบุตร 1 คน เป็นบุตรหญิง ขณะนั้นบุตรดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่ และโจทก์ขอให้นายวิชัยมาเป็นพยานในการขอแจ้งเกิดเกินกำหนดแสดงว่าที่โจทก์เบิกความว่านายวิชัยไปกับโจทก์ในการไปแจ้งเกิดเด็กหญิงธันยาภรณ์แทนจำเลยจึงเป็นความจริง แม้โจทก์จะไม่ได้นำหนังสือรับรองว่าเด็กหญิงธันยาภรณ์เป็นบุตรของจำเลยมาแสดงก็ตาม แต่โจทก์ก็มีพยานบุคคลยืนยันแล้ว อนึ่งแม้นายวิชัยจะมาเบิกความต่อศาลภายหลังว่าครั้งแรกไม่ทราบว่าผู้เป็นบิดาของบุตรซึ่งจำเลยให้พยานไปขอใบแจ้งเกิดนั้นเป็นผู้ใด หลังจากได้รับใบแจ้งเกิดแล้วจึงทราบว่าจำเลยเป็นบิดาบุตรผู้เยาว์ซึ่งขัดกับที่ให้ปากคำไว้กับนายทองปอน ก็ตาม แต่คำเบิกความของนายวิชัยที่แตกต่างขัดแย้งกับที่นายวิชัยเคยให้ถ้อยคำไว้ต่อนายทองปอนตามเอกสารหมาย ป.จ.1 ดังกล่าวข้างต้น ย่อมส่อลักษณะว่านายวิชัยเบิกความช่วยจำเลยในฐานะที่จำเลยเป็นผู้บังคับบัญชาในการงานไม่อาจฟังหักล้างบันทึกปากคำที่นายวิชัยให้ไว้ต่อนายทองปอนได้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการที่โจทก์ไปแจ้งเกิดผู้เยาว์จึงอยู่ในความรู้เห็นยินยอมของจำเลย ซึ่งเมื่อฟังประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า โจทก์จำเลยได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผยในระยะเวลาที่โจทก์อาจตั้งครรภ์เด็กหญิงธันยาภรณ์ได้แล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า เด็กหญิงธันยาภรณ์เป็นบุตรของโจทก์ที่เกิดกับจำเลย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อสุดท้าย คือเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูควรจะเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์เบิกความว่า หลังจากคลอดเด็กหญิงธันยาภรณ์ได้ 2 เดือนเศษ จำเลยให้เงินค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นครั้งคราว ครั้งละ 1,000 บาทเศษ โดยจำเลยให้คนสนิทคือนายวิชัยนำเงินมาให้ ครั้งสุดท้ายจำเลยนำเงินมาให้ 1,000 บาท เมื่อเดือนกันยายน 2531 จำเลยมีรายได้เดือนละ 20,000 บาทเศษ และนางมะลัยพยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยให้เงินโจทก์ประมาณ 10 ครั้ง ๆ ละ1,000 บาทเศษ จำเลยเบิกความว่า มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดชาญบริการ ซึ่งค้าขายรถ จำเลยมีเงินเดือนเดือนละ 7,500 บาทพิเคราะห์แล้ว ได้ความจากนายวิชัยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าพยานทำงานอยู่กับจำเลยมา 10 ปีเศษ จำเลยมีธุรกิจการค้าหลายอย่างเช่น กิจการโรงแรมศรีกมล ซึ่งแสดงว่าจำเลยมีรายได้อื่น ๆ อีกนอกจากเงินเดือนในห้างหุ้นส่วนจำกัดชาญบริการ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงธันยาภรณ์เป็นเงินเดือนละ 1,500 บาท จึงพอสมควรเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธันยาภรณ์เป็นบุตร หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพ.ศ. 2478 มาตรา 20 ได้บัญญัติถึงการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไว้เป็นพิเศษว่า เมื่อศาลได้พิพากษาว่าผู้ใดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วมาให้บันทึกในทะเบียนก็ได้แสดงว่า การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย นั้น นายทะเบียนสามารถจดทะเบียนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วได้ โดยไม่จำต้องอาศัยการแสดงเจตนาของจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธันยาภรณ์เป็นบุตรหากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงธันยาภรณ์นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษานั้น ก็เห็นว่า การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557(3) ซึ่งสำหรับคดีนี้ต้องเริ่มนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไป คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่เด็กหญิงธันยาภรณ์ผู้เยาว์ตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาและให้ยกคำขอในส่วนที่บังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธันยาภรณ์เป็นบุตร หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.