คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4141/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญาค้ำประกันมีแต่จำเลยที่ 3 ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันไว้เท่านั้น โดยข้อความในสัญญามิได้ปรากฏว่า จำเลยที่ 3 ค้ำประกันหนี้ของผู้ใดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 1 นำหนังสือค้ำประกันนั้นมาให้โจทก์ โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 3 มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ทั้งข้อความในสัญญาก็กล่าวถึงการค้ำประกันต่อบริษัทโดยตลอด มิได้บ่งชี้ว่า จำเลยที่ 3 เจตนาจะค้ำประกันจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์แต่อย่างใด โจทก์ย่อมไม่อาจใช้หนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาเป็นหลักฐานฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คและสลักหลังเช็คบางฉบับ จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้สลักหลังเช็คทุกฉบับ และจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๒ ร่วมกันชำระเงิน ๑๗๒,๓๓๕ บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน๑๖๑,๕๕๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ หนังสือสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องเป็นเอกสารที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ ไม่เกี่ยวพันกับโจทก์ และสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ร่วมกันชำระเงินและดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ ๑ ร่วมกันชำระเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ ๓ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันหรือไม่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๐ วรรคสอง บัญญัติว่าสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่เมื่อปรากฏว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๖ มีแต่จำเลยที่ ๓ ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันไว้เท่านั้น โดยข้อความในหนังสือสัญญาค้ำประกันนั้น มิได้ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ ค้ำประกันหนี้ของผู้ใดต่อโจทก์ ทั้งโจทก์เองนำสืบยอมรับว่า จำเลยที่ ๑ นำสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๖ มาให้โจทก์ โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ ๓มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ และข้อความในสัญญากล่าวถึงการค้ำประกันต่อบริษัทโดยตลอด มิได้บ่งชี้ว่า จำเลยที่ ๓ เจตนาค้ำประกันจำเลยที่ ๒ ต่อโจทก์แต่อย่างใด โจทก์ย่อมไม่อาจใช้หนังสือสัญญาค้ำประกันนั้นมาเป็นหลักฐานฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ ๓ได้
พิพากษายืน

Share