คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 414/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีคำสั่งกำหนดเวลาทำงานปกติของพนักงานคือ 8.00 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา การทำงานนอกเวลาดังกล่าวจึงต้องถือว่าเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ โจทก์ได้รับคำสั่งให้ทำงานในวันหยุดตั้งแต่ 13.00 นาฬิกา ถึง 6.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น โดยมีช่วงหยุดพักระหว่าง 17.00 นาฬิกา ถึง 18.00 นาฬิกา และ 24.00 นาฬิกา ถึง 1.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เช่นนี้ รวมระยะเวลาที่โจทก์ทำงานล่วงเวลาคือ 11 ชั่วโมง ซึ่งจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ในอัตราสามเท่าของค่าจ้างในวันทำงานสำหรับจำนวนชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย มีกำหนดเวลาทำงานปกติตั้งแต่ ๘.๐๐ นาฬิกา ถึง ๑๗.๐๐ นาฬิกา เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นวันเสาร์และเป็นวันหยุด จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา จนถึง ๖.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น เป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติในวันหยุด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในวันหยุดเท่ากับ ๓ เท่าคูณด้วยค่าจ้างต่อชั่วโมงคูณด้วยจำนวนชั่วโมงที่ทำงานเป็นเงิน ๑,๓๒๔.๒๙ บาท แต่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียง ๑,๐๐๓.๒๕ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาที่ยังขาดอยู่อีก ๓๒๑.๐๔ บาทแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ เพราะจำเลยที่ ๒ ไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ จำเลยได้กำหนดเวลาทำงานของพนักงานไว้วันละ ๘ ชั่วโมง จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ก็ต่อเมื่อโจทก์ทำงานครบ ๘ ชั่วโมงของวันทำงานเสียก่อน คือตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา ถึง ๒๒.๐๐ นาฬิกา โดยหักเวลาพักระหว่าง ๑๗.๐๐ นาฬิกา ถึง ๑๘.๐๐ นาฬิกา ออกแล้ว ดังนั้นค่าล่วงเวลาของโจทก์จึงต้องเริ่มคิดตั้งแต่ ๒๒.๐๐ นาฬิกาเป็นต้นไปจนถึงเวลา ๖.๐๐ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เมื่อหักเวลาพัก ๑ ชั่วโมงแล้ว ค่าทำงานของโจทก์เป็นเงิน ๑,๐๐๓.๒๕บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์
วันนัดพิจารณา โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ศาลอนุญาต
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การทำงานล่วงเวลาในวันหยุดนั้นจะต้องมีการทำงานครบ ๘ ชั่วโมง ของวันทำงานปกติเสียก่อน ส่วนที่เกินจึงเป็นเวลาทำงานล่วงเวลา ฉะนั้นช่วงเวลาทำงานของโจทก์ในวันเสาร์รวม ๘ ชั่วโมง เมื่อหักเวลาพักแล้วคือตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา ถึง ๒๒.๐๐นาฬิกา ถือว่าเป็นการทำงานในวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๓๙(๑) ไม่เป็นการทำงานล่วงเวลา ส่วนการทำงานตั้งแต่เวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา ถึง ๒๔.๐๐ นาฬิกา เป็นการทำงานล่วงเวลาวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๒ และเวลาทำงานตั้งแต่ ๑.๐๐ นาฬิกา ถึง ๖.๐๐ นาฬิกา ในวันอาทิตย์รวม ๕ ชั่วโมง ก็เป็นการทำงานในวันหยุดตามข้อ ๓๙(๑) จำเลยจ่ายค่าทำงานให้โจทก์จำนวน ๑,๐๐๓.๒๕ บาท เป็นการจ่ายครบถ้วนแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยมีคำสั่งกำหนดเวลาทำงานของพนักงานคือเริ่มทำงานตั้งแต่ ๘.๐๐ นาฬิกา ถึง ๑๗.๐๐ นาฬิกา หยุดพักกลางวันเวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา ถึง ๑๓.๐๐ นาฬิกา หาได้กำหนดเวลาทำงานเป็นจำนวนชั่วโมงไม่ ดังนั้นเวลาทำงานปกติก็คือเวลาตั้งแต่ ๘.๐๐ นาฬิกา ถึง ๑๗.๐๐ นาฬิกา การทำงานนอกเวลาดังกล่าวต้องถือว่าเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ การที่จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานตั้งแต่ ๑๓.๐๐ นาฬิกาของวันเสาร์จนถึง ๖.๐๐ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ จึงต้องถือว่าหลังจากเวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกาเป็นการทำงานล่วงเวลาแต่เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกาถึง ๑๘.๐๐ นาฬิกา ในวันดังกล่าวเป็นช่วงเวลาหยุดพักงานจึงต้องเริ่มนับเวลาทำงานล่วงเวลาตั้งแต่เวลาหลังจาก ๑๘.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไปและโจทก์ทำงานล่วงเวลาติดต่อกันไปจนถึง ๖.๐๐ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ถึงแม้วันรุ่งขึ้นเป็นวันอาทิตย์ ก็ต้องถือระยะเวลาทำงานของโจทก์ที่ติดต่อกันนั้น เป็นการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดด้วย มิใช่เป็นการทำงานในวันหยุดดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รับกันแล้วว่ามีการหยุดพักงานระหว่าง ๒๔.๐๐ นาฬิกา ถึง ๑.๐๐ นาฬิกา อีก ๑ ชั่วโมง รวมเวลาทำงานล่วงเวลาของโจทก์ตั้งแต่ ๑๘.๐๐ นาฬิกาถึง ๒๔.๐๐ นาฬิกาของวันเสาร์เป็นเวลา ๖ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๑.๐๐ นาฬิกา ถึง ๖.๐๐ นาฬิกา อีก ๕ ชั่วโมงรวมทั้งสิ้นโจทก์ทำงานล่วงเวลา ๑๑ ชั่วโมง ซึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๒ จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ในอัตราสามเท่าของค่าจ้างในวันทำงานสำหรับชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ จึงเท่ากับ ๔๐.๑๓ บาท คูณด้วย ๑๑ คูณด้วย ๓ เป็นเงิน ๑,๓๒๔.๒๙ บาท ตามที่โจทก์เรียกร้อง จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียง ๑,๐๐๓.๒๕ บาท จึงขาดไป ๓๒๑.๐๔ บาทอุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาจำนวน ๓๒๑.๐๔ บาทแก่โจทก์

Share