คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4139/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยโจทก์ไม่ได้แจ้งการครอบครองไว้ แต่ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ได้ทำหนังสือสละการครอบครอง ที่พิพาทตกเป็นของรัฐและแผ่นดินแล้ว เป็นการต่อสู้โดยอ้างกรรมสิทธิ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เอกสารมีข้อความตอนท้ายว่า ตามที่ทางราชการประสงค์จะใช้ที่ดินที่ข้าพเจ้ายึดถือครอบครองอยู่นี้ เป็นวนอุทยานและแหล่งท่องเที่ยว โจทก์มีความยินดีและเต็มใจไม่ขัดข้องที่ทางราชการจะจัดเป็นวนอุทยานและแหล่งท่องเที่ยว แต่จะขอ ถือกรรมสิทธิ์ในผลอาสินต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ที่ได้ถือครอบครองมาแต่เพียงอย่างเดียวหนังสือดังกล่าวแสดงไว้ ชัดเจนว่าได้มีการสละการครอบครองที่พิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว คงสงวนไว้แต่เพียงสิทธิเหนือพื้นดินเท่านั้นต่อมาทางราชการได้เข้าพัฒนาที่ดินของโจทก์อย่างเปิดเผยและวางแผนดำเนินงานเป็นขั้นตอนติดต่อกันทุกปี นับแต่โจทก์ได้สละการครอบครองโดยใช้งบประมาณแผ่นดินก่อสร้างถนนอาคารเอนกประสงค์ จัดหาม้าหินอ่อนมาวางบริการนักท่องเที่ยวสร้างถังขยะสาธารณะก่อสร้างบ้านพักรับรอง ติดตั้งป้ายชื่อหาดโดยโจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน และโจทก์ปล่อยให้ทางราชการดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาที่พิพาทเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยไม่ปรากฏว่าทางราชการได้หลอกลวงโจทก์ให้สละการครอบครองที่พิพาท กรณีฟังได้ว่าโจทก์ได้สละการครอบครองที่พิพาทให้เป็นของรัฐหรือแผ่นดินแล้ว การสละการครอบครองที่ดินมือเปล่าให้แก่ทางราชการโดยจะขอถือกรรมสิทธิ์เฉพาะผลอาสินแต่เพียงอย่างเดียวนั้นมีผลให้ที่ดินที่โจทก์สละการครอบครองกลายเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินทันที โดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีก เมื่อการแสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินมือเปล่าเป็นกิจการที่กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การตั้งตัวแทนในการสละการครอบครองจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ การที่ อ.สามีโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือสละการครอบครองที่ดินพิพาทถือได้ว่าโจทก์ได้ตั้งตัวแทนในการสละการครอบครองที่พิพาทแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ทั้งหกสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับและเรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ทั้งหก หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 เป็นเงินคนละ 4,000 บาทต่อเดือน โจทก์ที่ 3 เดือนละ 5,000 บาท โจทก์ที่ 4 คนละ 3,000บาทต่อเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ทั้งหกเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การว่า เมื่อปี 2525 โจทก์ทั้งหกกับชาวบ้านอื่นรวม 22 ราย ซึ่งครอบครองที่ดินที่หาดราชรักษ์และหาดแฆแฆได้ทำหนังสือสละการครอบครองที่ดินโดยยินยอมให้ทางราชการใช้ที่ดินเพื่อพัฒนาเป็นวนอุทยานและแหล่งท่องเที่ยวโดยโจทก์ทั้งหกกับพวกขอถือเอาผลอาสินต่าง ๆ ที่มีอยู่ในที่ดินเท่านั้น ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นของรัฐและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนับแต่นั้นหลังจากนั้นทางราชการดำเนินการพัฒนาปรับปรุงที่ดิน จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลรักษาหาดแฆแฆเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยโจทก์ทั้งหกกับพวกไม่เคยโต้แย้งคัดค้านเมื่อที่ดินตกเป็นของรัฐแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งหกสำนวนฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องว่าโจทก์ทั้งหกต่างครอบครองทำประโยชน์ที่พิพาทเป็นส่วนสัดต่างหากจากกัน โดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ได้แจ้งการครอบครองไว้แต่ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา ส่วนโจทก์ที่ 6 ได้แจ้งการครอบครองไว้แล้ว ต่อมาโจทก์ทั้งหกได้ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ทั้งหกทำหนังสือสละการครอบครอง ที่พิพาทตกเป็นของรัฐและแผ่นดินแล้วเป็นการต่อสู้โดยอ้างกรรมสิทธิ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งศาลชั้นต้นได้สั่งให้โจทก์ทั้งหกชำระเงินค่าธรรมเนียมอย่างคดีมีทุนทรัพย์แล้ว โดยโจทก์ที่ 1มีทุนทรัพย์ 125,000 บาท โจทก์ที่ 2 มีทุนทรัพย์ 125,000 บาทโจทก์ที่ 3 มีทุนทรัพย์ 250,000 บาท โจทก์ที่ 4 มีทุนทรัพย์75,000 บาท โจทก์ที่ 5 มีทุนทรัพย์ 100,000 บาท และโจทก์ที่ 6มีทุนทรัพย์ 150,000 บาท การที่โจทก์ทั้งหกฎีกาว่า โจทก์ทั้งหกไม่เคยยกหรือสละการครอบครองที่พิพาทให้แก่ผู้ใด แต่ทางราชการใช้วิธีไม่ชอบ หลอกให้โจทก์ทั้งหกและชาวบ้านอื่นยกที่ดินให้ทางราชการเพื่อสร้างถนน โจทก์ทั้งหกไม่สามารถอ่านเข้าใจจึงได้ลงชื่อในเอกสารที่ทางราชการเตรียมมาโดยเจตนาของโจทก์ทั้งหกจะยกให้เฉพาะทำถนนเท่านั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ดังนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับฎีกาของโจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรกแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของโจทก์ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 3ว่า โจทก์ที่ 3 สละการครอบครองที่พิพาทให้เป็นที่ดินของรัฐหรือแผ่นดินแล้วหรือไม่ เห็นว่าตามเอกสารหมาย ล.13 มีข้อความตอนท้ายว่า “ตามที่ทางราชการประสงค์จะใช้ที่ดินที่ข้าพเจ้ายึดถือครอบครองอยู่นี้ เป็นวนอุทยานและแหล่งท่องเที่ยว ข้าพเจ้ามีความยินดีและเต็มใจไม่ขัดข้องที่ทางราชการจะจัดเป็นวนอุทยานและแหล่งท่องเที่ยว แต่จะขอถือกรรมสิทธิ์ในผลอาสินต่าง ๆที่มีอยู่ในพื้นที่ที่ได้ถือครอบครองมาเท่านั้นแต่เพียงอย่างเดียว”เอกสารดังกล่าวมีนายอูเซ็ง แซมาลี สามีจำเลยที่ 3 ลงชื่อหนังสือดังกล่าวแสดงไว้ชัดเจนว่าได้มีการสละการครอบครองที่พิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว คงสงวนไว้แต่เพียงสิทธิเหนือพื้นดินเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนต่อไปอีกเมื่อทางราชการได้เข้าพัฒนาที่ดินของโจทก์ทั้งหกอย่างเปิดเผย และวางแผนดำเนินงานเป็นขั้นตอนติดต่อกันทุกปี นับแต่โจทก์ทั้งหกได้สละการครอบครองตั้งแต่ปี 2527 โดยใช้งบประมาณแผ่นดินก่อสร้างถนน อาคารเอนกประสงค์ จัดหาม้าหินอ่อนมาวางบริการนักท่องเที่ยว สร้างถังขยะสาธารณะ ก่อสร้างบ้านพักรับรอง ติดตั้งป้ายชื่อหาดแฆแฆโดยโจทก์ทั้งหกไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการดำเนินงานก่อสร้างดังกล่าวแต่อย่างใด คงปล่อยให้ทางราชการดำเนินงานก่อสร้างเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก จนถึงปี 2532 แสดงว่าตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ทางราชการได้พัฒนาที่พิพาท โจทก์ที่ 3จะต้องทราบเพราะมีบ้านพักอยู่ในตำบลเดียวกัน นอกจากนั้นยังปรากฏว่า ทางราชการได้จ้างโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ดูแลอาคารสถานที่ที่ทางราชการได้ก่อสร้างไว้โดยให้ค่าตอบแทนทุกเดือน ส่วนที่โจทก์ที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อยกที่ดินให้ แต่มีนายอูเซ็ง แซมาลีสามีโจทก์ที่ 3 เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนถือได้ว่าโจทก์ที่ 3ได้ตั้งนายอูเซ็งเป็นตัวแทนแล้ว ข้อที่โจทก์ที่ 3 อ้างว่าไม่ทราบว่านายอูเซ็งลงลายมือชื่อสละการครอบครองนั้นไม่น่าเชื่อเพราะโจทก์ที่ 3 อยู่กินเป็นสามีภริยากับนายอูเซ็งอย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายอิสลามมาเป็นเวลานานจนกระทั่งปัจจุบัน อีกทั้งทางราชการได้พัฒนาที่พิพาทมาเป็นเวลานานถึง 5 ปี และโจทก์ที่ 3ก็พักอาศัยอยู่ใกล้เคียงกับที่พิพาทด้วย ส่วนที่โจทก์ที่ 3ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าถูกหลอกลวงให้ลงชื่อในเอกสารนั้น เห็นว่าก่อนที่จะมีการลงชื่อในเอกสารทางราชการได้มีการประชุมหลายครั้งในการประชุมแต่ละครั้งพยานโจทก์ที่ 3 เองก็เบิกความยอมรับว่าได้มีการแปลจากภาษาไทยเป็นภาษายาวีด้วย ดังนั้น ที่โจทก์ที่ 3อ้างว่าไม่สามารถเข้าใจภาษาไทยได้นั้นฟังไม่ขึ้น นอกจากนั้นข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าราษฎรที่หาดชลาลัย ตำบลปะนาเระไม่ยอมให้ทางราชการใช้ที่ดินและพัฒนาที่ดิน แสดงว่าทางราชการไม่ได้หลอกลวงโจทก์ที่ 3 เพื่อให้สละการครอบครองที่พิพาทตามที่โจทก์ที่ 3 ฎีกาแต่อย่างใด พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าโจทก์ที่ 3 ได้สละการครอบครองที่พิพาทให้เป็นของรัฐหรือแผ่นดินแล้ว
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกว่า การแสดงเจตนาสละที่ดินมือเปล่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนตามแบบนิติกรรมที่กฎหมายบังคับไว้หรือไม่ เห็นว่าโจทก์ทั้งหกได้แสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินมือเปล่าให้แก่ทางราชการโดยจะขอถือกรรมสิทธิ์เฉพาะผลอาสินแต่เพียงอย่างเดียวนั้น มีผลให้ที่ดินที่โจทก์ทั้งหกสละการครอบครองกลายเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินทันที โดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีก เมื่อการแสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินมือเปล่าเป็นกิจการที่กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การตั้งตัวแทนในการสละการครอบครองจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้นการที่นายอูเซ็งสามีโจทก์ที่ 3 ลงลายมือชื่อในหนังสือสละการครอบครองที่พิพาท ถือได้ว่าโจทก์ที่ 3 ได้ตั้งตัวแทนในการสละการครอบครองที่พิพาทแล้ว
พิพากษายืน

Share