แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยไว้ในคดีแรงงานว่า ผู้ร้องมีสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาค่าจ้างค้างจ่ายจากจำเลยได้ทันที ก็เป็นการวินิจฉัยถึงสิทธิของลูกจ้างที่มีต่อนายจ้าง แต่การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างนั้นจะต้องบังคับตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 เมื่อไม่ปรากฏว่าหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราวแล้ว ทางราชการได้อนุญาตให้จำเลยประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ต่อไปได้ จำเลยโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจดำเนินการประกอบธุรกิจดังกล่าวต่อไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คงมีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับหนี้สินต่าง ๆ ของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483เท่านั้น และเมื่อค่าจ้างค้างจ่ายเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราวจึงเป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ไม่ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 94
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เดิมผู้ร้องเป็นลูกจ้างจำเลย ได้รับสินจ้างทุกสิ้นเดือน ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราว เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2529 ผู้ร้องได้ขอรับเงินเดือนประจำเดือนมกราคม 2529 จำเลยปฏิเสธ ผู้ร้องจึงฟ้องจำเลย ศาลฎีกาพิพากษาว่า “การพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว หามีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยผู้เป็นนายจ้างกับผู้ร้อง (ซึ่งเป็นโจทก์) ต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วยไม่ผู้ร้องยังเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่นั่นเอง”ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอรับเงินเดือนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้องผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ผู้คัดค้านจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายประจำเดือนมกราคม 2529 แก่ผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายประจำเดือนมกราคม2529 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาคดีแรงงานหรือไม่ เห็นว่า ตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคดีแรงงานว่าผู้ร้องมีสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาค่าจ้างค้างจ่ายจากจำเลยได้ทันทีนั้น เป็นการวินิจฉัยถึงสิทธิของลูกจ้างที่มีต่อนายจ้าง แต่การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างซึ่งเป็นหนี้ประเภทหนึ่งที่จำเลยในฐานะเป็นนายจ้างผู้ร้องจะต้องจ่ายให้ผู้ร้องนั้น ก็จะต้องบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า หลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราวแล้ว ทางราชการได้อนุญาตให้จำเลยประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ต่อไปได้ จำเลยโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจดำเนินการประกอบธุรกิจดังกล่าวต่อไปเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คงมีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับหนี้สินต่าง ๆ ของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าค่าจ้างประจำเดือนมกราคม 2529จะต้องจ่ายให้ผู้ร้องเมื่อวันสิ้นเดือนมกราคม 2529 จึงถือว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ 15 มกราคม 2529 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราว จึงเป็นหนี้ชนิดที่ขอรับชำระหนี้ไม่ได้ ฎีกาผู้คัดค้านฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง