คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4131/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาทจำเลยเข้ามาอาศัยอยู่โดยปราศจากสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยให้การว่าบ้านและที่ดินพิพาทเป็นของล.บุตรสาวจำเลยเดิมล.กับโจทก์เป็นสามีภริยากันโจทก์ได้หลอกลวงล.จะนำบ้านพร้อมที่ดินพิพาทไปกู้เงินธนาคารล.จึงโอนบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หลังจากนั้นล. กับโจทก์ก็หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาจำเลยอยู่ในบ้านโดยอาศัยสิทธิของล.โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องซึ่งศาลชั้นต้นตั้งประเด็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาทหรือไม่แล้วฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับล.อยู่กินเป็นสามีภริยากันก่อนที่จะมีการจดทะเบียนสมรสระหว่างเวลาดังกล่าวมีการซื้อบ้านและที่ดินพิพาทจดทะเบียนในนามล.โดยเงินที่ซื้อส่วนหนึ่งเป็นของโจทก์อีกส่วนหนึ่งเป็นของล. โดยเงินที่ซื้อส่วนหนึ่งเป็นของโจทก์อีกส่วนหนึ่งเป็นของล. โจทก์กับล.จึงเป็นเจ้าของร่วมการที่ล.จดทะเบียนยกบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการกระทำของโจทก์ที่วางแผนเพื่อให้ล.โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์โดยบอกว่าจะเอาไปจำนองในนามของโจทก์เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัวตามที่จำเลยกล่าวอ้างจริงอันเป็นการใช้กลอุบายเพียงเพื่อให้ล.หลงเชื่อแล้วโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เท่านั้นโดยโจทก์ไม่มีเจตนาที่จะนำบ้านและที่ดินพิพาทไปจำนองแก่ธนาคารการจดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ของล. จึงเกิดขึ้นจากการทำกลฉ้อฉลหลอกลวงให้โอนกรรมสิทธิ์ให้ด้วยเจตนาที่สำคัญผิดอันเป็นสาระสำคัญจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา156กรรมสิทธิ์จึงยังเป็นของโจทก์กับล.ในฐานะเจ้าของร่วมเมื่อจำเลยเข้ามาอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของล.ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งจึงเป็นการเข้าอยู่อาศัยโดยชอบโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยนั้นเป็นการพิพากษาตามฟ้องตามประเด็นแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 512/492 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 20619 เนื้อที่ 27 ตารางวา เมื่อประมาณต้นเดือนมกราคม 2537 จำเลยได้ขนย้ายสิ่งของพร้อมด้วยบริวารมาอยู่อาศัยในบ้านโจทก์โดยปราศจากสิทธิ โจทก์แจ้งให้จำเลยและบริวารออกจากบ้านพิพาท จำเลยไม่ยอมออก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านโจทก์ และให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากบ้านโจทก์
จำเลยให้การว่า บ้านและที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นของนางละมัยหมู่ผึ้ง บุตรจำเลยซึ่งได้มาโดยการซื้อจากนางสาวฉวีวรรณกิตติเจริญฤกษ์ เดิมนางละมัยและโจทก์เป็นสามีภริยากันโจทก์หลอดลวงนางละมัยจะนำบ้านพร้อมที่ดินไปกู้เงินธนาคารนางละมัยจึงโอนบ้านและที่ดินให้แก่โจทก์หลังจากโอนแล้วนางละมัยกับโจทก์จึงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาจำเลยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนางละมัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินโฉนดเลขที่ 20619 จำเลยและบริวารได้เข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านโจทก์โดยปราศจากสิทธิ ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไป จำเลยให้การว่าบ้านและที่ดินพิพาทเป็นของนางละมัย หมู่ผึ้ง บุตรสาวจำเลย โดยซื้อมาจากนางสาวฉวีวรรณ กิตติเจริญฤกษ์ เดิมนางละมัยกับโจทก์เป็นสามีภริยากัน โจทก์ได้หลอกลวงนางละมัยจะนำบ้านพร้อมที่ดินพิพาทไปกู้เงินธนาคาร นางละมัยจึงโอนบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หลังจากนั้นนางละมัยกับโจทก์ก็หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาจำเลยอยู่ในบ้านโดยอาศัยสิทธิของนางละมัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ศาลชั้นต้นได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากบ้านเลขที่ 512/492 หรือไม่ แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับนางละมัยอยู่กินเป็นสามีภริยากันก่อนที่จะมีการจดทะเบียนสมรส ระหว่างเวลาดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2534มีการซื้อบ้านและที่ดินพิพาทจดทะเบียนในนามนางละมัย โดยเงินที่ซื้อส่วนหนึ่งเป็นของโจทก์ อีกส่วนหนึ่งเป็นของนางละมัยโจทก์กับนางละมัยจึงเป็นเจ้าของร่วม โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2535 นางละมัยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทให้โจทก์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 และโจทก์กับจำเลยจดทะเบียนหย่าวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 หากโจทก์ไม่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงประการหนึ่งประการใดให้นางละมัยหลงเชื่อแล้ว ยังไม่น่าเชื่อว่านางละมัยจะยกบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยไม่คิดค่าตอบแทน ทั้งการจดทะเบียนหย่าได้เกิดขึ้นหลังจากจดทะเบียนสมรสไม่ถึง 40 วัน และเกิดหลังจากการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทประมาณ 10 วัน สามีภริยาที่จะมีเหตุหย่ากันได้นั้นหากไม่มีสาเหตุรุนแรงจนถึงขนาดอยู่กินเป็นสามีภริยากันต่อไปไม่ได้แล้วย่อมไม่ตัดสินใจที่จะหย่ากันการที่นางละมัยจดทะเบียนยกบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงน่าเชื่อว่าเป็นการกระทำของโจทก์ที่วางแผนเพื่อให้นางละมัยโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์โดยบอกว่าจะเอาไปจำนองในนามของโจทก์ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัวตามที่จำเลยกล่าวอ้างจริง อันเป็นการใช้กลอุบายเพียงเพื่อให้นางละมัยหลงเชื่อ แล้วโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เท่านั้นโดยโจทก์ไม่มีเจตนาที่จะนำบ้านและที่ดินพิพาทไปจำนองแก่ธนาคารแต่ประการใด การจดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ของนางละมัย จึงเกิดขึ้นจากการทำกลฉ้อฉลหลอกลวงให้โอนกรรมสิทธิ์ให้ด้วยเจตนาที่สำคัญผิดอันเป็นสาระสำคัญ จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 เมื่อนิติกรรมโอนบ้านและที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ ต้องถือว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์จึงยังเป็นของโจทก์กับนางละมัยในฐานะเจ้าของร่วมเมื่อจำเลยเข้ามาอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนางละมัยซึ่งเป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่ง จึงเป็นการเข้าอยู่อาศัยโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินพิพาทเห็นได้ว่า เป็นการพิพากษาตามฟ้องตามประเด็นแล้ว
พิพากษายืน

Share