แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จะเคยมีคำพิพากษารับรองกรรมสิทธิ์ว่าทรัพย์พิพาทเป็นของผู้ร้องขัดทรัพย์มาแล้วก็ตาม โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีนั้นย่อมนำพิสูจน์ว่าทรัพย์รายพิพาทนั้นเป็นของจำเลยอันจะต้องรับผิดต่อการบังคับคดีของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 (2) ได้
ย่อยาว
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา นายเกิดยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้อง ไม่ใช่ของจำเลยทรัพย์รายนี้ โจทก์เคยนำชี้ให้นายกมลโจทก์ในคดีแพ่งแดงที่ ๕๐/๒๕๐๒ ยึดโดยอ้างว่าเป็นของจำเลยมาครั้งหนึ่งแล้ว ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าเป็นของผู้ร้องไม่ใช่ของจำเลย ศาลไต่สวนแล้วสั่งให้ถอนการยึดคืนให้ผู้ร้องไป ต่อมานายกมลจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ฐานทำให้หลงผิดในการยึดโจทก์ยอมใช้ค่าเสียหายให้แก่นายกมล คดีถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้น การที่โจทก์นำยึดในคดีนี้อีกจึงเป็นการยึดซ้ำ ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ ขอให้ศาลสั่งถอนการยึด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลย ผู้ร้องกับจำเลยให้สิทธิไม่สุจริต
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์นำยึดทรัพย์ รายพิพาทไม่เป็นกรณี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ (๒) ซึ่งมีความว่า คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ก็ดี แต่มาตรา ๑๔๕ (๒) ยังยกเว้นไว้ว่า ถ้าบุคคลภายนอกพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า ก็ย่อมเป็นไปตามที่พิสูจน์ได้นั้น แสดงให้เห็นว่าการที่ได้มีคำพิพากษารับรองกรรมสิทธิ์นั้น หาใช่เด็ดขาดโดยไม่มีใครโต้แย้งได้ไม่ ฉะนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์นำพิสูจน์ได้ว่า เป็นทรัพย์สินของจำเลยอันจะต้องรับผิดต่อการบังคับคดีของโจทก์ การก็ต้องเป็นไปตามที่ปรากฏนั้น พิพากษายืน