คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์กล่าวเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2530 จำเลยที่ 2เป็นผู้บริหารงานจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งอธิการบดี จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวไม่จ่ายเงินเดือนและเงินช่วยเหลือบุตรให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการของจำเลยที่ 1ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์โจทก์มิได้กล่าวในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัวเพราะเหตุใดโจทก์จะอ้างว่าจำเลยที่ 2มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวด้วยนั้น เป็นการนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2507มาตรา 3,4 ประกอบกับข้อ 10 ข้อ 24(2) แห่งกฎทบวง ฉบับที่ 2(พ.ศ. 2519) ออกตามความใน พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2507 และมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 กำหนดให้อธิการบดีผู้บังคับบัญชาโดยอนุมัติของ อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับเงินเดือนตั้งแต่ระดับ 9 ลงมาออกจากราชการได้ และข้อ 7วรรคสี่ แห่งกฎทบวงดังกล่าวกำหนดว่า อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎทบวงนี้ และมีหน้าที่ช่วยกฎหมายปฏิบัติการตามที่ กฎหมายมอบหมาย ข้อ 8 อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยมีอำนาจตั้งกรรมการเฉพาะกิจเพื่อทำการตามที่ อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยมอบหมาย แสดงว่า อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่มีอำนาจตั้งบุคคลอื่นปฏิบัติการตามที่ อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยมอบหมายได้เมื่อที่การประชุม อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีมติอนุมัติในหลักการมอบอำนาจให้อธิการบดี ประธาน อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้พิจารณาอนุมัติให้ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่ระดับ 9 ลงมาลาออกจากราชการแทนอ.ก.ม. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกจากราชการได้ การที่โจทก์ไม่ได้ลงวันเดือนปีที่เริ่มรับราชการในหนังสือขอลาออกจากราชการ เป็นเพียงรายละเอียด ไม่ทำให้หนังสือขอลาออกของโจทก์ไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด ส่วนหลักเกณฑ์ว่าด้วยการลาออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยซึ่งได้กำหนดขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยซึ่งประสงค์จะขอลาออกจากราชการปฏิบัติเพื่อให้ระยะเวลาสำหรับผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาการสั่งอนุญาตการลาออกว่าจะสั่งอนุญาตให้ผู้ขอลาออกจากราชการหรือจะสั่งยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกโดยดำเนินการทั้งนี้โดยคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการเป็นสำคัญ ฉะนั้น แม้ผู้ขอลาออกจะไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตสละประโยชน์แห่งระยะเวลาดังกล่าวโดยสั่งอนุญาตให้ผู้นั้นลาออกจากราชการตามความประสงค์ของผู้ขอลาออกแล้ว คำสั่งนั้นย่อมมีผลสมบูรณ์โดยไม่จำต้องแจ้งคำสั่งอนุญาตการลาออกให้โจทก์ทราบล่วงหน้าก่อน 30 วัน ตามระเบียบดังกล่าว และที่และเมื่อระเบียบดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญตามมาตรา 94(4) และ (5) เท่านั้น ส่วนกรณีของโจทก์โจทก์ออกจากราชการตามมาตรา 94(3) กล่าวคือ โจทก์ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตามมาตรา 95 ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันดังนี้ ระเบียบดังกล่าวจึงนำมาใช้บังคับแก่คดีนี้ไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตการลาออกอนุญาตให้โจทก์ออกจากราชการในวันที่ 15 มกราคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ขอลาออก ย่อมมีผลให้โจทก์ออกจากราชการตั้งแต่วันขอลาออกส่วนกรณีที่โจทก์ยังคงรับราชการต่อมาเพราะยังไม่ทราบคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกจากราชการก็มีผล เพียงทำให้โจทก์ได้รับสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปีบำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2522 มาตรา 18(1) ที่ให้สิทธิแก่โจทก์ไว้เท่านั้น พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535 มาตรา 18 ที่บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ ยื่นฟ้องบังคับแก่คดีดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2535 และคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองวันที่ 4 มิถุนายน 2535 ดังนี้ในเรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 เดิมซึ่งกำหนดให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2530 จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการตำแหน่งอธิการบดีของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนตำแหน่งนักแนะแนวการศึกษาและอาชีพ 7 ระดับ 7 ผู้อำนวยการกองกิจการนักศึกษา สังกัดกองกิจการนักศึกษาสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยราชการภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณของจำเลยที่ 1 เดือนละ 15,380 บาทและเงินช่วยเหลือบุตรเดือนละ 100 บาท ก่อนเดือนเมษายน 2535โจทก์ได้รับเงินเดือน เดือนละ 12,580 บาท และเงินช่วยเหลือบุตรเดือนละ 100 บาท จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2ในฐานะส่วนตัวไม่จ่ายเงินเดือนและเงินช่วยเหลือบุตรประจำเดือนมีนาคม 2535 จำนวน 12,680 บาท ไม่จ่ายเงินช่วยเหลือบุตรประจำเดือนเมษายน 2535 จำนวน 100 บาท และไม่จ่ายเงินเดือนและเงินช่วยเหลือบุตรประจำเดือนพฤษภาคม 2535 จำนวน15,480 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันชำระเงิน 28,260 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2530มีจำเลยที่ 2 เป็นอธิการบดีมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงานของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนและเงินช่วยเหลือบุตรจากงบประมาณแผ่นดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2535โจทก์ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะอธิการบดีของจำเลยที่ 1 โดยขอลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่15 มกราคม 2535 จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากอนุกรรมการสามัญประจำจำเลยที่ 1 ให้มีอำนาจอนุมัติการลาออกจากราชการได้อนุมัติให้โจทก์ลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2535และจำเลยที่ 1 ออกคำสั่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ 0200/2535 เรื่องอนุญาตให้ข้าราชการลาออกจากราชการ ลงวันที่ 27 มกราคม 2535ตามความประสงค์ของโจทก์ การลาออกจากราชการของโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ.2507 และจำเลยที่ 1 แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2535 แต่โจทก์ไม่ยอมรับทราบคำสั่งจึงถือว่าโจทก์รับทราบหรือควรได้รับทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2535 แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 1 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2535 เท่านั้น ตามพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกันพ.ศ. 2522 มาตรา 18 และเมื่อโจทก์พ้นจากการเป็นข้าราชการโดยการลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2535 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือบุตรถึงเดือนมกราคม 2535 จำเลยที่ 1จ่ายเงินช่วยเหลือบุตรประจำเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2535ให้แก่โจทก์ด้วยความเข้าใจผิด โจทก์จึงต้องคืนเงินช่วยเหลือบุตรทั้งสองเดือนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินรวม 200 บาทส่วนเงินเดือนประจำเดือนมีนาคม 2535 โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 1 แล้ว สำหรับเดือนเมษายน 2535 โจทก์มีสิทธิได้รับเงินเดือนระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2535 เป็นเงิน 3,588.66 บาทแต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือบุตร 100 บาท จำเลยที่ 1จ่ายเงินเดือนให้แก่โจทก์ 12,380 บาท ด้วยความเข้าใจผิดโจทก์จึงต้องคืนเงินเดือนส่วนที่รับเกินไปจำนวน 11,791.34 บาทให้แก่จำเลยที่ 1 รวมกับเงินช่วยเหลือบุตรประจำเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2535 จำนวน 200 บาท แล้วโจทก์ต้องคืนเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นจำนวน 11,991.34 บาท ขอให้ยกฟ้องและขอบังคับโจทก์ให้ชำระเงินจำนวน 11,991.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า คำสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกจากราชการของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะหนังสือลาออกจากราชการของโจทก์บกพร่องไม่ถูกต้อง ไม่ได้ลงวันเดือนปีที่เริ่มรับราชการ ไม่ได้ยื่นล่วงหน้าก่อนวันขอลาออกจากราชการไม่น้อยกว่า30 วัน จำเลยที่ 2 ทราบความบกพร่องไม่ถูกต้องดังกล่าวและมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกจากราชการโดยไม่ได้ให้โจทก์แก้ไขหนังสือลาออกให้ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ออกคำสั่งที่มีผลย้อนหลังโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจให้กระทำได้ ทั้งไม่มีกฎหมายให้อำนาจอนุกรรมการสามัญประจำจำเลยที่ 1 มอบหมายให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีอำนาจอนุมัติให้ข้าราชการลาออกได้ โจทก์ไม่ได้รับแจ้งคำสั่งใด ๆ จากจำเลยทั้งสอง และโจทก์ได้มีหนังสือขอยกเลิกการลาออกจากราชการของโจทก์ต่อจำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535 แล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน11,791.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 20 เมษายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ส่วนจำเลยที่ 1อุทธรณ์ในข้อกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 11,691.34 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2530 มีจำเลยที่ 2 เป็นอธิการบดีโจทก์เป็นข้าราชการซึ่งได้รับเงินเดือนในระดับ 7 ในสังกัดจำเลยที่ 1วันที่ 15 มกราคม 2535 โจทก์ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการต่อจำเลยที่ 2 ว่า ขอลาออกจากราชการนับตั้งแต่วันที่15 มกราคม 2535 เพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นตามเอกสารหมายจ.1 จำเลยที่ 1 จ่ายเงินเดือนให้โจทก์จนถึงเดือนเมษายน 2535และจ่ายเงินช่วยเหลือบุตรให้โจทก์จนถึงเดือนมีนาคม 2535 ต่อมาจำเลยที่ 2 มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกจากราชการได้ตามความประสงค์ของโจทก์ ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ 0200/2535ลงวันที่ 27 มกราคม 2535 เอกสารหมาย จ.6 และแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้คณะเกษตรศาสตร์ที่โจทก์ไปช่วยราชการอยู่ขณะนั้นเพื่อแจ้งให้โจทก์ทราบ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535 โจทก์ยื่นหนังสือขอยกเลิกการขอลาออกจากราชการดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.5คณะเกษตรศาสตร์แจ้งคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกจากราชการให้โจทก์ทราบวันที่ 7 เมษายน 2535 โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับทราบคำสั่งดังกล่าวที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปโดยเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1เป็นส่วนตัว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์กล่าวว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2530 จำเลยที่ 2เป็นผู้บริหารงานจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งอธิการบดีจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวไม่จ่ายเงินเดือนและเงินช่วยเหลือบุตรให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการของจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว โจทก์มิได้กล่าวในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัวเพราะเหตุใด ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวจึงเป็นการนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกจากราชการ ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยพ.ศ. 2507 มาตรา 3 มาตรา 4 ประกอบกับข้อ 10 ข้อ 24(2)แห่งกฎทบวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2519) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2507 และมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2518กำหนดให้อธิการบดีผู้บังคับบัญชาโดยอนุมัติของ อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับเงินเดือนตั้งแต่ระดับ 9 ลงมาออกจากราชการได้ และข้อ 7 วรรคสี่ แห่งกฎทบวงดังกล่าวกำหนดว่า อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎทบวงนี้ และมีหน้าที่ช่วย กฎหมายปฏิบัติการตามที่กฎหมายมอบหมาย ข้อ 8 อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยมีอำนาจตั้งกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อทำการตามที่ อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยมอบหมาย แสดงให้เห็นว่า อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่มีหน้าที่ช่วย กฎหมายเท่านั้น อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยยังเป็นองค์กรที่มีอำนาจตั้งบุคคลอื่นปฏิบัติการตามที่ อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยมอบหมายได้ ตามรายงานการประชุม อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 7/2528 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2528ข้อ 10 ที่ประชุมมีมติอนุมัติในหลักการมอบอำนาจให้อธิการบดีประธาน อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้พิจารณาอนุมัติให้ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่ระดับ 9ลงมาลาออกจากราชการแทน อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกจากราชการได้ที่โจทก์ฎีกาว่าหนังสือขอลาออกจากราชการของโจทก์บกพร่องและไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการลาออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยเอกสารหมาย จ.13 ที่กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยซึ่งประสงค์จะลาออกจากราชการยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการต่อผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าก่อนวันที่จะขอลาออกไม่น้อยกว่า 30 วัน เมื่อผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตการลาออกพิจารณาเห็นควรอนุญาตให้ผู้ขอลาออกแล้ว ต้องแจ้งคำสั่งนั้นให้ผู้ขอลาออกทราบก่อนวันที่ผู้นั้นขอลาออกจากราชการด้วยแต่การยื่นหนังสือขอลาออกของโจทก์และการที่จำเลยที่ 2 แจ้งคำสั่งอนุญาตการลาออกให้โจทก์ทราบไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว คำสั่งของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ไม่ได้ลงวันเดือนปีที่เริ่มรับราชการในหนังสือขอลาออกจากราชการ เป็นเพียงรายละเอียด ไม่ทำให้หนังสือขอลาออกของโจทก์ไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด ส่วนหลักเกณฑ์ตามเอกสารหมาย จ.13 กำหนดขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยซึ่งประสงค์จะขอลาออกจากราชการปฏิบัติเพื่อให้ระยะเวลาสำหรับผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาการสั่งอนุญาตการลาออกว่าจะสั่งอนุญาตให้ผู้ขอลาออกจากราชการหรือจะสั่งยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกโดยดำเนินการตามข้อ 3.1 ถึงข้อ 5 ทั้งนี้โดยคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการเป็นสำคัญฉะนั้น แม้ผู้ขอลาออกจะไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ตามแต่เมื่อผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตสละประโยชน์แห่งระยะเวลาดังกล่าวโดยสั่งอนุญาตให้ผู้นั้นลาออกจากราชการตามความประสงค์ของผู้ขอลาออกแล้ว คำสั่งนั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ โดยจำเลยที่ 2ไม่จำต้องแจ้งคำสั่งอนุญาตการลาออกให้โจทก์ทราบล่วงหน้าก่อน30 วัน ดังที่โจทก์ฎีกา
ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 2 อนุญาตให้โจทก์ลาออกจากราชการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2535 เป็นการออกคำสั่งให้มีผลย้อนหลัง เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบ ก.พ.ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ.2518 ตามเอกสารหมาย จ.17 เพราะการลาออกของโจทก์เป็นกรณีสมัครใจลาออกมิใช่กรณีสั่งให้ออก ดังนั้น การลาออกในกรณีของโจทก์จะมีผลสมบูรณ์เมื่อโจทก์ทราบคำสั่งนั้น เห็นว่า ระเบียบดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญตามมาตรา 94(4) และ (5) เท่านั้น ส่วนกรณีของโจทก์โจทก์ออกจากราชการตามมาตรา 94(3) กล่าวคือ โจทก์ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตามมาตรา 95 ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันดังนี้ ระเบียบดังกล่าวจึงนำมาใช้บังคับแก่คดีนี้ไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตการลาออกอนุญาตให้โจทก์ออกจากราชการในวันที่ 15 มกราคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ขอลาออกย่อมมีผลให้โจทก์ออกจากราชการตั้งแต่วันขอลาออกส่วนกรณีที่โจทก์ยังคงรับราชการต่อมาเพราะยังไม่ทราบคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกจากราชการก็มีผลเพียงทำให้โจทก์ได้รับสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปีบำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2522มาตรา 18(1) ที่ให้สิทธิแก่โจทก์ไว้เท่านั้น
ข้อสุดท้ายที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การและฟ้องแย้งในวันที่ 20 สิงหาคม 2535 จำเลยทั้งสองจึงต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่า 15 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535 แต่จำเลยทั้งสองยื่นบัญชีระบุพยานหลังวันชี้สองสถานไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13)พ.ศ.2535 มาตรา 18 บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นฟ้องบังคับแก่คดีดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2535 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองวันที่4 มิถุนายน 2535 จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 เดิมซึ่งกำหนดให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า3 วัน จำเลยทั้งสองยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อย 3 วันจึงชอบด้วยกฎหมาย
อนึ่ง คดีนี้จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแย้ง แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 เมษายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เป็นการให้ชำระก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2535 ซึ่งเป็นวันฟ้องแย้ง จึงเกินคำขอศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 11,691.34 บาทแก่จำเลยที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share