คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3019/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บ้านและที่ดินพิพาทเป็นของ ส. ซึ่งได้จดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกิน โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินคือบ้านและที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1417 การฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากบ้านและที่ดินพิพาทเป็นการจัดการทรัพย์สินโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
สัญญาเช่ามีใจความว่า โจทก์ยอมให้จ.เช่าที่ดินพิพาทเพื่อปลูกสร้างอาคารเพื่อทำการค้าขาย เมื่อผู้เช่าเลิกกิจการค้าแล้วผู้ให้เช่ายอมให้ผู้เช่าเซ้งได้ภายในกำหนด 10 ปีเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี แล้วผู้เช่าจะเซ้งหรือรื้อถอนไม่ได้ อาคารและสิ่งปลูกสร้างต้องเป็นของผู้ให้เช่าเมื่อผู้เช่ายังทำการค้าขายอยู่ ผู้ให้เช่าจะฟ้องขับไล่ผู้เช่าไม่ได้เว้นแต่ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญา ย่อมหมายความว่า โจทก์ยอมให้ จ. เช่าที่ดินพิพาทและโอนสิทธิการเช่าได้ภายในกำหนด 10 ปีเพื่อตอบแทนที่ จ. ปลูกสร้างอาคารในที่ดินพิพาทแล้วยกให้โจทก์เมื่อครบ 10 ปีสัญญาต่างตอบแทนนี้จึงมีกำหนดเวลา 10 ปี และข้อสัญญาที่ว่าเมื่อผู้เช่ายังทำการค้าขายอยู่ผู้ให้เช่าจะฟ้องขับไล่ผู้เช่าไม่ได้จึงใช้บังคับได้ภายใน 10 ปี เช่นกัน
สัญญาต่างตอบแทนสิ้นสุดแล้ว จ.ยังคงอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทต่อมาโดยเสียค่าเช่าเป็นรายเดือนจึงเป็นการเช่าโดยไม่มีกำหนดเวลา เมื่อ จ.ตายสัญญาเช่าจึงระงับ จำเลยทั้งสามเช่าบ้านและที่ดินพิพาทต่อมาโดยไม่ได้กำหนดเวลาเช่าไว้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566 เมื่อปรากฏว่านับแต่วันที่จำเลยทั้งสามได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 2 เดือน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2494 นายจี่เซียง สามีจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นบิดาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากโจทก์เพื่อปลูกสร้งบ้านโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาเช่า แต่มีข้อสัญญาว่าเมื่อครบ 10 ปี ให้กรรมสิทธิ์ในบ้านดังกล่าวตกเป็นของโจทก์ นายจี่เซียงได้ครอบครองที่ดินและบ้านดังกล่าวในฐานะผู้เช่าจนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2522 สัญญาเช่าจึงสิ้นสุดลง หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามได้เช่าที่ดินและบ้านดังกล่าวต่อโดยไม่ได้กำหนดเวลาเช่าและทำสัญญาเช่าไว้ ต่อมาโจทก์โอนบ้านและที่ดินดังกล่าวให้ ส. และ ส.จดทะเบียนสิทธิเก็บกินในบ้านและที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ไว้ตลอดชีวิต โจทก์และ ส. บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยแล้ว ทั้งจำเลยค้างชำระค่าเช่า ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยและให้จำเลยชำระค่าเสียหาย

จำเลยทั้งสามให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนายจี่เซียงเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งโจทก์สัญญาว่าเมื่อนายจี่เซียงยังทำการค้าขายอยู่ในบ้านพิพาท โจทก์จะฟ้องขับไล่ไม่ได้เมื่อนายจี่เซียงตายไปสัญญาดังกล่าวก็ไม่เลิก จำเลยทั้งสามเป็นทายาทย่อมรับช่วงสิทธิการบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ยอมรับและเก็บค่าเช่าจากจำเลย จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเช่า

ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองและให้ใช้ค่าเสียหาย

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะฟ้องบ้านและที่ดินพิพาทเป็นของนางสาวสมพรซึ่งได้จดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินตลอดชีวิตของโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินคือบ้านและที่ดินพิพาทตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1417 บัญญัติไว้ การฟ้องคดีนี้เป็นการจัดการทรัพย์สินที่พิพาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม

การที่สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนายจี่เซียงมีใจความว่า โจทก์ยอมให้นายจี่เซี่ยงเช่าที่ดินพิพาทเพื่อปลูกสร้างอาคารเพื่อทำการค้าขาย เมื่อผู้เช่าเลิกกิจการค้าแล้วผู้ใหเช่ายอมให้ผู้เช่าเซ้งได้ภายในกำหนด 10 ปี เมื่อพ้นกำหนด10 ปีแล้ว ผู้เช่าจะเซ้งหรือรื้อถอนไม่ได้ อาคารและสิ่งปลูกสร้างต้องเป็นของผู้ให้เช่าเมื่อผู้เช่ายังทำการค้าขายอยู่ ผู้ให้เช่าจะฟ้องขับไล่ผู้เช่าไม่ได้ เว้นแต่ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญานั้น ย่อมมีความหมายว่าโจทก์ยอมให้นายจี่เซียงเช่าที่ดินพิพาทเพื่อตอบแทนที่นายจี่เซียงรับจะปลูกสร้างอาคารในที่พิพาทแล้วยกให้โจทก์เมื่อพ้นกำหนด 10 ปี ส่วนนายจี่เซียงยอมยกอาคารที่ปลูกสร้างให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนที่โจทก์ยอมให้เช่าที่ดินและให้โอนสิทธิการเช่าได้ภายในกำหนด 10 ปี จึงเห็นได้ว่าสัญญาต่างตอบแทนนี้มีกำหนดเวลา 10 ปี ตามสัญญาข้อ 4 ที่ว่าเมื่อผู้เช่ายังทำการค้าขายอยู่ผู้ให้เช่าจะฟ้องขับไล่ผู้เช่าไม่ได้จึงใช้บังคับได้ภายใน 10 ปีเช่นกัน เมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาอาคารที่นายจี่เซียงปลูกสร้างในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของโจทก์และสัญญาต่างตอบแทนสิ้นสุดลงที่นายจี่เซียงยังคงอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทต่อมาโดยเสียค่าเช่าจึงเป็นการเช่าโดยไม่มีกำหนดเวลา เมื่อนายจี่เชียงตาย สัญญาเช่าจึงระงับ จำเลยทั้งสามเป็นผู้เช่าบ้านและที่ดินต่อมาโดยไม่ได้กำหนดเวลาเช่า โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้โดยปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566เมื่อปรากฏว่านับแต่จำเลยรับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2524ถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม

พิพากษายืน

Share