แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในความผิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 มาตรา 43คือ การฝ่าฝืนประกาศที่คณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดใช้อำนาจประกาศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 เมื่อคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดอาศัยอำนาจตามมาตรา 24(3)(4)(5) ออกประกาศฉบับที่ 88 พ.ศ. 2528แล้ว จำเลยที่ 2 กระทำการฝ่าฝืนประกาศดังกล่าว ย่อมมีความผิดตามมาตรา 43 ส่วนประกาศดังกล่าวข้อ 5 เป็นการกำหนดรายละเอียดของการกระทำที่จะถือว่าอย่างไรเป็นการฝ่าฝืน ซึ่งเป็นการกำหนดรายละเอียดในส่วนที่เป็นหลักเกณฑ์ของความผิด ไม่ใช่เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์แห่งความผิดตามมาตรา 43 การที่ต่อมาได้มีประกาศฉบับที่ 101 พ.ศ. 2529 ยกเลิกความในข้อ 5 แห่งประกาศดังกล่าวจึงเป็นการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่เป็นความผิด ไม่ใช่เป็นการยกเลิกหลักเกณฑ์ที่เป็นความผิดที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำสำเร็จไปแล้ว ถือไม่ได้ว่าประกาศฉบับที่ 101 เป็นบทกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังยกเลิกการกระทำที่เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้า และป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 มาตรา 8, 23, 24, 27, 43, 47ประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดฉบับที่ 1 พ.ศ. 2522, ฉบับที่ 71 พ.ศ. 2527, ฉบับที่ 88 พ.ศ. 2528และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 มาตรา 8, 23, 24, 27, 43 และ 47ประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 88พ.ศ. 2528 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ปรับคนละ 30,000 บาทหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ใช้ค่าปรับ หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 ขอถอนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์อนุญาตและจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมายว่าการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 มีบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปหรือไม่ ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายชั้นศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า จำเลยที่ 2 กระทำการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 88 พ.ศ. 2528เรื่อง กำหนดมาตรการในการจำหน่ายสินค้าควบคุม ข้อ 5 ต่อมาได้มีประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดฉบับที่ 101 พ.ศ. 2529 เรื่อง แก้ไขปรับปรุงประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 88 พ.ศ. 2528ให้ยกเลิกความในข้อ 5… แห่งประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 88 พ.ศ. 2528 เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 นั้น เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการตามมาตรา 24(1) (2) (4) (6) (7) (8) (9)(10) (11) (12) หรือ (14).. ต้องระวางโทษจำคุก…” การกระทำที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการกระทำผิดคือ การฝ่าฝืนประกาศที่คณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดใช้อำนาจประกาศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 เมื่อคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดอาศัยอำนาจตามมาตรา 24(3) (4) (5) ออกประกาศฉบับที่ 88 พ.ศ. 2528แล้ว จำเลยที่ 2 กระทำการฝ่าฝืนประกาศดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 ตามที่กล่าวข้างต้น การที่ประกาศฉบับที่ 88 พ.ศ. 2528 ข้อ 5 กำหนดว่า “ให้บุคคลตามข้อ 4(1)(2) (3) และ (4) ที่ได้ดำเนินการผลิต ว่าจ้างให้ผลิตจำหน่ายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าควบคุมตามข้อ 3 อยู่ในวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับแจ้งรายละเอียดของตนต่อเลขาธิการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ดังต่อไปนี้…”นั้น เป็นการกำหนดรายละเอียดของการกระทำที่จะถือว่าอย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นการฝ่าฝืน อันเป็นการกำหนดรายละเอียดในส่วนที่เป็นหลักเกณฑ์ของความผิด มิใช่เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์แห่งความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 ดังนั้น การที่ต่อมาได้มีประกาศฉบับที่ 101พ.ศ. 2529 ยกเลิกความในข้อ 5 แห่งประกาศฉบับที่ 88 พ.ศ. 2528จึงเป็นการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่เป็นความผิดมิใช่เป็นการยกเลิกหลักเกณฑ์ที่เป็นความผิดที่จำเลยที่ 2ได้กระทำสำเร็จไปแล้ว หรือถือไม่ได้ว่าประกาศฉบับที่ 101 พ.ศ. 2529นั้น เป็นบทกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังยกเลิกการกระทำที่เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสองจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้ที่พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด
พิพากษายืน.