คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4115/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทใช้ทำนาโดยเช่าจาก ส.เจ้าของเดิมมานาน โจทก์ทำนาในที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลซึ่งในขณะนั้นปรากฏว่าโจทก์ยังเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทและทำนาอยู่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาจากเจ้าของเดิมผู้ให้เช่า แม้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทจากเจ้าของเดิมเพราะผู้ขายที่ดินพิพาทที่แท้จริงก็คือเจ้าของเดิม ศาลเป็นแต่เพียงดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทตามบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น มิได้มีผลไปลบล้างบทบัญญัติพิเศษในกฎหมายอื่นนอกเหนือจากที่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะไม่ การรับโอนของจำเลยที่ 1จึงเป็นการรับโอนที่ดินพิพาทตามความในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 กล่าวคือ การเช่านาย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์นาที่เช่า ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านาตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่เจ้าของเดิมซึ่งเป็นผู้ให้เช่ามีต่อโจทก์ผู้เช่า ดังนั้น โจทก์จึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ให้เช่านาเมื่อประสงค์จะขายนาคือที่ดินพิพาทก็มีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่านาทราบโดยทำเป็นหนังสือแสดงความจำนงจะขายนาพร้อมทั้งระบุราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินยื่นต่อประธาน คชก.ตำบล เพื่อแจ้งให้โจทก์ผู้เช่านาทราบภายในสิบห้าวันเสียก่อน ถ้าโจทก์ผู้เช่านาไม่ซื้อตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 53 วรรคสาม จำเลยที่ 1 จึงจะขายให้จำเลยที่ 3 ได้ต่อไป เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทก่อนตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาตรา 54 เมื่อโจทก์ได้ร้องต่อ คชก.ตำบล เพื่อขอซื้อที่ดินพิพาทตามสิทธิในกฎหมายดังกล่าว และ คชก.ตำบล ก็ได้มีมติให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 โดยฝ่ายจำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์มติของ คชก.ตำบลแต่อย่างใด นับว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนครบถ้วนตามมาตรา 54 ดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 ได้
การที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า โจทก์ได้ชำระค่าเช่าที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 โดยการชำระผ่าน ย. แสดงว่าโจทก์สละสิทธิในการที่จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 และเป็นการแสดงเจตนาเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 ใหม่นั้นการชำระค่าเช่านั้นเป็นหน้าที่ของผู้เช่าต้องปฎิบัติตามกฎหมายคือตราบใดที่โจทก์ยังเป็นผู้เช่า ยังไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่านาคือค่าเช่าที่ดินพิพาทเป็นคนละส่วนกันกับสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามบทบัญญัติของมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว การที่โจทก์ชำระค่าเช่านาคือค่าเช่าที่ดินพิพาทจึงมิใช่ข้อที่จะตัดสิทธิของโจทก์ว่าเป็นการสละสิทธิที่จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 และการที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อ คชก.ตำบล เพื่อขอซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 นั้น ก็เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ ทั้งเป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนอยู่ในตัวว่า โจทก์มิได้มีความประสงค์ที่จะสละสิทธิในการซื้อที่ดินพิพาทด้วย
ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524มาตรา 54 ได้กำหนดให้ผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาจากผู้รับโอนนั้นตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้นแล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ประมูลซื้อที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดในราคา 900,000 บาท และในวันเดียวกันนั้นได้โอนขายให้จำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 ในราคา 1,500,000 บาท แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในขณะที่จำเลยที่ 3 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 นั้น ที่ดินพิพาทมีราคาตลาดเท่ากับราคาที่จำเลยที่ 3 ซื้อมาจากจำเลยที่ 1 คือราคา 1,500,000 บาท ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 3 ในราคาดังกล่าวตามมติของ คชก.ตำบลจึงชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระราคาไว้นั้น ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดเวลาให้โจทก์ชำระราคาด้วย

Share