คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4112/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้กับพวกให้รับผิดชำระเงินตามเช็ค โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าวให้การว่า จำเลยไม่ใช่ผู้ทรงเช็ค แต่ไม่สืบพยาน ต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจฟ้องให้โจทก์รับผิด คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ แม้เป็นเรื่องละเมิดอ้างว่าจำเลยเบิกความเท็จ แต่ก็เรียกค่าเสียหายมาเท่ากับจำนวนเงินตามเช็คที่โจทก์ต้องรับผิดในคดีก่อน เห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์มีจุดประสงค์เพื่อให้ศาลพิพากษาว่า พยานหลักฐานของจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนเป็นพยานเท็จรับฟังไม่ได้ จำเลยไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบ และโจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยตามคำพิพากษาในคดีก่อน ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ข้ออ้างดังกล่าวล้วนไม่อาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสียซึ่งความมีผลผูกพันของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ โจทก์จะอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากคำพิพากษาในคดีก่อนหาได้ไม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทน 27,871,492 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 17,419,683.56 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายในการดำเนินคดีนี้ 3,000,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วในคดีหมายเลขดำที่ 5835/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 1233/2554 ของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยเป็นเงิน 3,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ สืบเนื่องมาจากคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 5835/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 1233/2554 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้กับพวกให้รับผิดชำระเงินตามเช็ค โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าวให้การมีสาระสำคัญว่า จำเลยไม่ใช่ผู้ทรงเช็ค แต่ชั้นพิจารณาโจทก์ไม่สืบพยาน ต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์ยอมรับว่าเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง และโจทก์อ้างว่าจำเลยนำเช็คไปแลกเงินสดจากบุคคลอื่น เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยรับเช็คกลับคืนมาโดยยังไม่ได้ชำระเงินตามเช็คแก่บุคคลดังกล่าว โจทก์มีภาระการพิสูจน์ แต่โจทก์ไม่ได้นำพยานมาสืบตามที่ให้การต่อสู้ไว้ เมื่อจำเลยนำสืบฟังได้ว่าเช็คตามฟ้องที่โจทก์ลงลายมือชื่อทุกฉบับเป็นเช็คผู้ถือ ย่อมโอนแก่กันได้โดยการส่งมอบ แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยโอนเช็คดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกก็ตาม แต่เมื่อเช็คกลับคืนมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยอีกครั้งในฐานะผู้รับเงินโดยฟังไม่ได้ว่าจำเลยยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่ผู้รับแลกเช็คดังที่โจทก์อ้าง เช่นนี้ จำเลยย่อมกลับมาเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องให้โจทก์รับผิดตามเช็คดังกล่าวได้ ดังนี้ ย่อมเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าศาลในคดีก่อนได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คำฟ้องของจำเลยในคดีก่อนนั้นเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย และพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ โดยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีก่อนนั้นเป็นผู้ลงลายมือสั่งจ่ายเช็ค และเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายทุกฉบับเป็นเช็คผู้ถือ จำเลยเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ มีอำนาจฟ้องให้โจทก์รับผิด คดีก่อน หากโจทก์มีข้ออ้างข้อเถียงอย่างไร โจทก์ก็มีสิทธินำพยานหลักฐานมานำสืบพิสูจน์ตามข้ออ้าง หรือนำสืบหักล้างพยานหลักฐานของจำเลยได้อยู่แล้ว แต่โจทก์ไม่สืบพยาน จนศาลฎีกาคดีก่อนพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์รับผิดตามฟ้อง คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ แม้เป็นเรื่องละเมิดอ้างว่าจำเลยเบิกความเท็จ แต่ก็เรียกค่าเสียหายมาเท่ากับจำนวนเงินตามเช็คที่โจทก์ต้องรับผิดในคดีก่อน เห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อให้ศาลพิพากษาว่า พยานหลักฐานของจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนเป็นพยานเท็จรับฟังไม่ได้ จำเลยไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบ และโจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยตามคำพิพากษาในคดีก่อน ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ข้ออ้างดังกล่าวล้วนไม่อาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียซึ่งความมีผลผูกพันของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ โจทก์จะอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากคำพิพากษาในคดีก่อนหาได้ไม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share