คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4110/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าเสื่อมราคาที่โจทก์เรียกร้องมาในฟ้องคือราคารถพิพาทที่ยึดคืนขายได้น้อยกว่าราคาเช่าซื้อที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิด ตามสัญญาเช่าซื้อ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ ไม่ใช่ฟ้องเรียกร้อง ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสื่อมราคาของรถพิพาทเนื่องจาก การใช้ของจำเลยที่ 1 การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้เป็นผล มาจากการเลิกสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 181,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่า จะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ได้รับความเสียหายไม่เกิน 85,265 บาท จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดค่าเสื่อมราคารถยนต์คันที่เช่าซื้อเนื่องจากขาดอายุความจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน124,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสองฎีกาข้อเดียวว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสื่อมราคาจึงมีอายุความ 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 562, 563 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสื่อมราคาให้โจทก์ 100,000 บาท ไม่ถูกต้องปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าค่าเสื่อมราคาจากการที่จำเลยที่ 1 ใช้รถที่เช่าซื้อชำรุดเสียหาย ทำให้โจทก์ขายได้ราคาเพียง 199,065.42 บาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหาย 136,200 บาท ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 และ 9 เห็นว่า ค่าเสื่อมราคาที่โจทก์เรียกร้องมาในฟ้องก็คือราคารถพิพาทที่ยึดคืนขายได้น้อยกว่าราคาเช่าซื้อที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 และข้อ 9 นั่นเอง จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสื่อมราคาของรถพิพาทเนื่องจากการใช้ของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้เป็นผลมาจากการเลิกสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความอุทธรณ์จำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share