คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 411/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้จงใจขาดนัด กรณีเช่นนี้จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) มาปรับเพื่อให้จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ด้วยกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ คดีต้องพิจารณาใหม่โดยให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสให้การ แต่จำเลยที่ 2 คงถือว่าขาดนัดยื่นคำให้การเช่นเดิม ต่อจากนั้นไปจำเลยที่ 2 จะได้รับประโยชน์ในชั้นพิจารณาอย่างใดหรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่รูปคดีเป็นอีกตอนหนึ่ง
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้พิจารณาใหม่ภายหลังเมื่อตัดสินแล้ว ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา คือ อุทธรณ์ฎีกาได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1/2504 และครั้งที่ 6/2504)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอแบ่งแยกที่ดินและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่ส่งหมายเรียกและหมายนัดไม่ได้ จึงใช้วิธีปิดหมายไว้ที่บ้านจำเลย จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินและใช้ค่าเสียหาย ระหว่างออกคำบังคับ จำเลยยื่นคำร้องอ้างว่าไม่ทราบ ไม่ได้จงใจขาดนัด ขอให้พิจารณาใหม่
โจทก์คัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วฟังว่าจำเลยที่ ๑ มีภูมิลำเนาอยู่ที่รัฐกลันตันและจำเลยที่ ๒ ก็ไม่ได้อยู่ที่บ้านที่ปลูกอยู่ในที่พิพาท การปิดหมายที่บ้านซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลยไม่เป็นการถูกต้องตามกฎหมาย จะถือว่าจำเลยทราบฟ้องและหมายของศาลยังไม่ได้ จำเลยมิได้ขาดนัดโดยจงใจ จึงมีคำสั่งให้พิจารณาใหม่
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า การปิดหมายเรียกและหมายนัดให้จำเลยที่ ๑ ทราบที่บ้านเรือนจำเลยที่ ๒ เป็นการมิชอบ จะฟังว่าจำเลยที่ ๑ ขาดนัดยังไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ ๒ แม้จะได้ความว่า หลังจากปิดหมาย ๒-๓ วัน จำเลยที่ ๒ ได้นำสำเนาฟ้องไปปรึกษากำนัน แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ ๒ ได้รับสำเนาฟ้องและรู้เรื่องที่โจทก์ฟ้องแล้วก็ดี แต่คดีนี้จำเลยที่ ๑-๒ มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีซึ่งโจทก์ฟ้องว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่โจทก์ขอแบ่งร่วมกัน การที่โจทก์ฟ้องและขอให้ศาลพิพากษาแบ่ง เป็นการขอให้ศาลพิพากษาให้ปฏิบัติการอันแบ่งแยกจากกันมิได้ในระหว่างจำเลยทั้งสอง ฉะนั้น กระบวนพิจารณาที่ทำต่อจำเลยคนหนึ่งหรือจำเลยคนหนึ่งได้กระทำไป จึงเป็นประโยชน์แก่จำเลยอีกคนหนึ่งด้วย ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๙ (๑) เมื่อคดีของจำเลยที่ ๑ มีเหตุสมควรให้มีการพิจารณาใหม่ ก็ย่อมมีผลถึงจำเลยที่ ๒ ด้วย เพราะจะแยกคดีนี้ออกเป็นการเฉพาะตัวจำเลยแต่ละคนมิได้ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ว่า การปิดหมายให้จำเลยที่ ๑ ทราบที่บ้านเรือนจำเลยที่ ๒ เป็นการมิชอบ จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ ๑ มิได้ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๙ การพิจารณาใหม่นี้เริ่มตั้งแต่เวลาขาดนัด แม้ที่มาตรา ๒๐๙ กำหนดให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ตั้งแต่เวลาขาดนัดจะมีความหมายว่า ขาดนัดพิจารณา เพราะมาตรา ๒๐๙ นี้เกี่ยวเนื่องมาจากมาตรา ๒๐๗ และ ๒๐๘ แต่การที่จำเลยที่ ๑ ขอให้พิจารณาใหม่นี้ก็เห็นได้ว่าเพื่อจำเลยที่ ๑ จะให้การต่อสู้คดี และคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยก็ระบุเช่นนั้น ฉะนั้น ถึงอย่างไร การพิจารณาก็ย้อนไปถึงขณะเริ่มต้นสืบพยานตามมาตรา ๑๙๙ และเมื่อจำเลยขอให้ได้มีโอกาสให้การใหม่ กรณีมีเหตุสมควร ศาลก็อนุญาตให้จำเลยให้การใหม่ได้ตามมาตรา ๑๙๙ นั้น จำเลยที่ ๑ จึงให้การได้ภายในเวลาซึ่งศาลจะได้กำหนด ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดไว้แล้วในคำสั่ง ส่วนจำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การอยู่แล้ว และคำร้องของจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ ๒ จึงไม่ได้รับประโยชน์ตามมาตรา ๒๐๙ ประกอบด้วยมาตรา ๑๙๙ จำเลยที่ ๒ จะให้การไม่ได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงเป็นการคลาดเคลื่อนและเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ยกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๙ (๑) มาประกอบการวินิจฉัยในคดีนี้ ไม่ตรงกับกรณี เพราะเรื่องนี้ได้มีบัญญัติไว้เป็นพิเศษอยู่แล้ว เมื่อการพิจารณาได้ย้อนไปถึงชั้นที่จำเลยที่ ๑ ขาดนัด ตามมาตรา ๒๐๙ แล้ว การพิจารณาก็ต้องพิจารณาใหม่ทั้งคดี คือถือว่าจำเลยที่ ๒ คงขาดนัดยื่นคำให้การอยู่เช่นเดิม ต่อจากนั้นไป จำเลยที่ ๒ จะได้รับประโยชน์อย่างใดหรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่รูปคดีเป็นอีกตอนหนึ่ง จึงพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ โดยให้โอกาสเฉพาะจำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้คดีภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้แล้ว ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ ๒ ให้ดำเนินการพิจารณาไปโดยถือว่าจำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ

Share