คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4109/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เครื่องวอเตอร์ชิลเลอร์ เป็นเครื่องปรับอากาศที่อาศัยน้ำเป็นตัวสื่อ ทำความเย็น ไม่ใช่เครื่องทำน้ำเย็น เมื่อโจทก์นำเข้ามาเพื่อใช้ในการอุตสาหกรรม โจทก์จึงมีสิทธิได้ลดอากรเหลืออัตราร้อยละ 30ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก. 10/2525.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้นำเครื่องปรับอากาศระบบน้ำเย็นหมุนเวียนเรียกว่า “วอเตอร์ ชิลเลอร์” จากต่างประเทศเข้ามาเพื่อใช้ในกิจการอุตสาหกรรมของโจทก์ 1 เครื่อง และได้ยื่นแบบรายการนำของเข้าในพิกัดอัตราศุลกากรร้อยละ 30 บวกอากรพิเศษอีกร้อยละ 10 ของอากรคิดเป็นอากรขาเข้า 747,892.61 บาท โดยได้ลดอากรตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก. 10/2525 แต่เจ้าหน้าที่กองพิกัดเห็นว่าของที่นำเข้าเป็นเครื่องทำความเย็นครบชุดสมบูรณ์ มิใช่เครื่องปรับอากาศที่ใช้ในการอุตสาหกรรม จึงประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้าในอัตราปกติร้อยละ 60 บวกอากรพิเศษอีกร้อยละ 10 คิดเป็นเงินอากร1,495,785.23 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง โจทก์ชำระอากรดังกล่าวไปและโจทก์มีหนังสือโต้แย้งไปยังจำเลย แต่จำเลยวินิจฉัยว่าเครื่องปรับอากาศดังกล่าวไม่เข้าข่ายได้ลดอากร ซึ่งไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 747,892.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 0.625ต่อเดือน นับแต่เดือนมีนาคม 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การประเมินเรียกเก็บอากรและคำวินิจฉัยของจำเลยถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว วอเตอร์ ชิลเลอร์ เป็นเครื่องทำน้ำเย็นมิใช่เครื่องปรับอากาศสำหรับใช้ในการอุตสาหกรรม ต้องชำระอากรในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 84.15 อัตราอากรร้อยละ 60บวดอากรพิเศษอีกร้อยละ 10 รวมเป็นอัตราอากรร้อยละ 66 ของราคาที่นำเข้า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 747,892.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 0.625 บาท ต่อเดือน นับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2526จนกว่าจำเลยจะอนุมัติให้จ่ายคืน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากร ในอัตราร้อยละ60 ของเครื่องวอเตอร์ ชิลเชอร์ (WATER CHILLER) นั้นทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียง ที่เป็นปัญหาโต้เถียงกันก็คือ เครื่องวอเตอร์ ชิลเลอร์ที่โจทก์นำเข้านี้จะถือว่าเป็นเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องทำความเย็น ถ้าเป็นเครื่องปรับอากาศโจทก์ก็จะได้ลดอัตราอากรลงเหลือร้อยละ 30 ตามประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 10/2525ข้อ 2 ตามบัญชีท้ายประกาศของกระทรวงการคลัง ประเภทที่ 84.15 ตามเอกสารหมาย จ.5 แต่ถ้าเป็นเครื่องทำความเย็นก็ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้ลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว
ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ได้กำหนดพิกัดอัตราอากรขาเข้า ประเภทที่ 84.12 ได้แก่เครื่องปรับอากาศมีที่เครื่องครบในตัว ประกอบด้วยพัดลมที่ใช้มอเตอร์ และเครื่องเปลี่ยนอุณหภูมิและความชื้นของอากาศ ประเภทที่ 84.15 ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องทำความเย็น ทั้งชนิดที่ใช้ไฟฟ้าและชนิดอื่น นอกจากพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรดังกล่าวแล้ว ยังมีประกาศกรมศุลกากรเรื่องแจ้งอัตราอากร ในกรณีมีปัญหาในการตีความพิกัดอัตราอากรขาเข้าเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น ตู้เย็น และส่วนประกอบของสิ่งดังกล่าวไว้ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.4 ในประกาสตามเอกสารหมาย ล.4 ได้กำหนดประเภทของเครื่องปรับอากาศไว้ 3 ชนิดคือ 1. เครื่องปรับอากาศชนิดที่มีเครื่องครบในตัว (Self Comtainedair Conditioning machine) 2. เครื่องปรับอากาศชนิดแยกส่วน(Split type) และ 3. เครื่องปรับอากาศชนิด Indirect Cool
สำหรับเครื่องทำความเย็นนั้นในประกาศกรมศุลกากรตามเอกสารหมาย ล.4 ได้กำหนดไว้ว่า “เครื่องทำความเย็น โดยทั่ว ๆ ไป มีส่วนประกอบที่มีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ Compressor, Condenser และEvaporator ให้จัดเข้าพิกัดฯ ประเภทที่ 84.15 ค. เช่น เครื่องทำน้ำเย็น เครื่องทำน้ำแข็ง เครื่องทำไอศกรีม ห้องเย็นสำเร็จรูปเครื่องทำความเย็นสำหรับห้องเย็น ซึ่งประกอบด้วย Condensing Unitและ Evaporator ที่แยกอยู่ต่างหากจากกัน แต่มีท่อต่อถึงกันเป็นต้น”จะเห็นได้ว่า ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร และประกาศกรมศุลกากรตามเอกสารหมาย ล.4 ดังกล่าวมาแล้วนั้น เครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็นแตกต่างกัน เช่น เครื่องทำน้ำเย็น (เครื่องทำน้ำให้เย็นเพื่อใช้ดื่มหรือเพื่อความประสงค์อื่น) เป็นเครื่องทำความเย็น มิใช่เครื่องปรับอากาศ
สำหรับเครื่องวอเตอร์ ชิลเลอร์ ที่โจทก์นำเข้านั้น ในฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าเป็นเครื่องทำน้ำเย็นหรือทำความเย็นครบชุดสมบูรณ์ชนิดที่เรียกว่า อินไดเร็คคูล (Indsirect Cool) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่สับสนและไม่ถูกต้อง เพราะเครื่องทำน้ำเย็นนั้น ตามประกาศกรมศุลกากรตามเอกสารหมาย ล.4 กำหนดให้ถือว่าเป็นเครื่องทำความเย็น ซึ่งมิใช่เครื่องปรับอากาศ ยิ่งกว่านั้น เครื่องชนิดที่เรียกว่า Indirect Cool นั้น ตามประกาศกรมศุลกากรดังกล่าวถือว่าเป็นเครื่องปรับอากาศชนิดหนึ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นและจะเห็นได้จากคำเบิกความของ ดร.ศิริลักษณ์ จันทรางสุ พยานโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า “เครื่อง วอเตอร์ ชิลเลอร์ นี้ใช้ระบบน้ำเย็นหมุนเวียนเป็นสื่อทำความเย็น ไม่ใช่เครื่องที่จะทำให้น้ำเย็นเครื่องวอเตอร์ ชิลเลอร์ นี้ไม่มีใครนำเอามาทำน้ำเย็นเพื่อการอุตสาหกรรม
ที่จำเลยฎีกายกคำเบิกความของนายสมชาย เอี่ยมโอภาส มาอ้างว่าเครื่องวอเตอร์ ชิลเลอร์ ที่โจทก์นำเข้าเป็นเครื่องทำน้ำเย็นจึงจัดเป็นเครื่องทำความเย็น เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศมิใช่เป็นเครื่องปรับอากาศ ถ้าจะใช้เป็นเครื่องปรับอากาศจะต้องมีท่อนำน้ำเย็นจากเครื่องวอเตอร์ชิลเลอร์ไปยังห้องแอร์ชามเบอร์ แล้วใช้พัดลมเป่าความเย็นไปใช้ปรับอากาศนั้น เห็นว่าคำเบิกความของนายสมชายพยานจำเลยดังกล่าวแสดงว่า จำเลยยอมรัยว่า เมื่อนำเครื่องวอเตอร์ชิลเลอร์ มาใช้รวมกับท่อน้ำห้องแอร์ชามเบอร์ และพัดลมแล้ว ถือว่าเป็นเครื่องปรับอากาศ ดังนั้น ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปจึงมีว่าเครื่องวอเตอร์ ชิลเลอร์ เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศคือ ท่อน้ำ ห้องแอร์ชามเบอร์ และพัดลม หรือท่อน้ำ ห้องแอร์ชามเบอร์และพัดลมเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ คือ เครื่องวอเตอร์ชิลเลอร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายนำสืบโต้เถียงกัน ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ข้อโต้เถียงทั้งสองฝ่ายและพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องวอเตอร์ชิลเลอร์ กับท่อน้ำ ห้องแอร์ชามเบอร์ และพักลมแล้ว เห็นว่า เครื่องวอเตอร์ ชิลเลอร์ คือตัวเครื่องปรับอากาศโดยตรง เป็นเครื่องปรับอากาศที่อาศัยน้ำเป็นตัวสื่อทำความเย็น ไม่ใช่เครื่องทำน้ำเย็นมิใช่ส่วนประกอบของท่อน้ำ ห้องแอร์ชามเบอร์ และพัดลม เมื่อโจทก์นำเข้ามาเพื่อใช้ในการอุตสาหกรรมผลิตเส้นด้ายไนลอนเส้นใยในล่อนและเส้นใยเทียม โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้ลดอากรเหลืออัตราร้อยละ 30ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก. 10/2525 ข้อ 2 ประเภทที่84.15 ของบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ยกเลิกการลดและลดอัตราอากรศุลกากร และกำหนดให้ของไม่ต้องเสียอากรศุลกากรลงวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2525 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share