แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บันทึกข้อตกลงระหว่างผู้แทนของจำเลยกับผู้แทนสหภาพโรงแรมเอราวัณที่ตกลงจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พนักงานเมื่อเลิกจ้าง ถือได้ว่าเป็นการปรับปรุงสวัสดิการที่อาจคิดเป็นตัวเงินได้ตามความหมายของมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 15 กันยายน2524 ซึ่งห้ามมิให้รัฐวิสาหกิจใดกระทำการดังกล่าวเป็นอันขาดเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นพิเศษ จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ทั้งพนักงานของจำเลยก็เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องอยู่ภายใต้บังคับของมติดังกล่าวด้วยเช่นกัน การที่ผู้แทนของจำเลยและผู้แทนของสหภาพแรงงานโรงแรมเอราวัณตกลงกันจ่ายเงินบำเหน็จอันเป็นการปรับปรุงสวัสดิการโดยฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี จึงไม่มีผลบังคับ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานโรงแรมเอราวัณ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามด้วยเหตุโจทก์เกษียณอายุ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสาม และปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2528 สหภาพแรงงานโรงแรมเอราวัณได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย ซึ่งผู้แทนของจำเลยและผู้แทนสหภาพแรงงานได้ตกลงกันจ่ายเงินบำเหน็จในกรณีที่ทางบริษัทเลิกจ้างพนักงาน จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ทั้งสาม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจและโจทก์ทั้งสามเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งจำเลยและโจทก์จึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2524 ที่ว่า ‘เมื่อรัฐวิสาหกิจทำการปรับปรุงค่าจ้างดังกล่าวข้างต้นแล้วห้ามมิให้รัฐวิสาหกิจใดทำการปรับปรุงอัตราค่าจ้าง เงินเดือน หรือสวัสดิการอื่นใดที่อาจคิดเป็นตัวเงินได้ของพนักงาน ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเป็นอันขาด เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษ’ เช่นนี้ การทำบันทึกการเจรจาระหว่างผู้แทนบริษัทฯ กับสหภาพฯ ครั้งที่ 11 จึงเป็นการฝ่าฝืนมติของคณะรัฐมนตรีย่อมไม่มีผลบังคับ จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จ และยกเหตุผลในการไม่จ่ายค่าชดเชยอีกหลายประการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสามพร้อมทั้งดอกเบี้ย คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2524คณะรัฐมนตรีได้มีมติห้ามมิให้รัฐวิสาหกิจใดปรับปรุงอัตราค่าจ้าง เงินเดือน หรือสวัสดิการอื่นใดที่อาจคิดเป็นตัวเงินได้ของพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเป็นอันขาดเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษ ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2528จำเลยกับสหภาพแรงงานโรงแรมเอราวัณอันเป็นองค์การลูกจ้างของจำเลยทำข้อตกลงกันให้บำเหน็จแก่พนักงานในกรณีที่จำเลยเลิกจ้างพนักงานโดยถืออายุงานและค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเกณฑ์คำนวณ เพื่อตอบแทนความดีความชอบที่พนักงานของจำเลยทำงานมาด้วยดีจนกระทั่งเลิกจ้าง ซึ่งการตกลงจ่ายเงินให้แก่พนักงานเพื่อตอบแทนความดีความชอบที่พนักงานของจำเลยทำงานมาด้วยดีจนกระทั่งเลิกจ้างนั้นเป็นข้อตกลงจ่ายเงินให้แก่พนักงานในลักษณะที่เป็นสวัสดิการพิเศษอีกส่วนหนึ่งต่างหากฉะนั้น บันทึกข้อตกลงการจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พนักงานเมื่อเลิกจ้าง จึงเป็นการปรับปรุงสวัสดิการที่อาจคิดเป็นตัวเงินได้ตามความหมายของมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 15 กันยายน 2524 จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลังจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรีและพนักงานของจำเลยก็เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตลอดจนสหภาพแรงงานโรงแรมเอราวัณอันเป็นองค์การของลูกจ้างจำเลยจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรีด้วยเช่นเดียวกัน การที่ผู้แทนของจำเลยและผู้แทนของสหภาพแรงงานโรงแรมเอราวัณตกลงกันจ่ายเงินบำเหน็จอันเป็นการปรับปรุงสวัสดิการ โดยฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการเงินของรัฐวิสาหกิจอันเป็นประโยชน์ของแผ่นดินจึงไม่มีผลบังคับตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1338/2525ระหว่าง สหภาพแรงงานพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยโจทก์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กับพวก จำเลย โจทก์ทั้งสามจึงนำข้อตกลงดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามมิได้
พิพากษายืน.