คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4107/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีรายรับจากการสร้างตึกแถวและทาวน์เฮ้าส์ จำหน่าย โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชี 2522-2524เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินราคาขายตามที่คำนวณจากผู้ซื้อที่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งใกล้เคียงกับราคาที่คำนวณตามหลักเกณฑ์การก่อสร้างของกรมโยธาธิการ เจ้าพนักงานประเมินจึงนำมาเป็นเกณฑ์คำนวณรายรับสำหรับการขายของโจทก์รายที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ การคำนวณรายรับดังกล่าวจึงชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายและเหตุผลแล้ว หาเป็นการประเมินโดยไม่ได้อาศัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานดัง ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 และ 24 แห่ง ป.รัษฎากร ไม่ โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นตามกำหนดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 แห่ง ป.รัษฎากร มูลหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่นั้น ดังนั้น ที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าของจำนวนเงินภาษีอากร ตามมาตรา 26 ก่อนมีการแก้ไข (พ.ศ. 2525) อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะมูลหนี้ภาษีเกิดจึงชอบแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีรายรับจากการสร้างตึกแถวและทาวน์เฮ้าส์จำหน่าย โจทก์ได้ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีไว้ถูกต้องแล้ว เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม ภาษีการค้าและเบี้ยปรับเงินเพิ่ม กับให้นำเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายและเงินเพิ่มไปชำระให้จำเลยที่ 1 โจทก์เห็นว่าการประเมินดังกล่าวไม่ชอบ จึงอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์และการประเมินดังกล่าวมาแล้ว เพราะในการหมายเรียกตรวจสอบโจทก์ได้มอบเอกสาร สรรพบัญชี ตลอดจนพยานหลักฐานเกี่ยวกับการตรวจสอบให้เจ้าพนักงานตามที่ประสงค์ทุกประการ แต่เจ้าพนักงานประเมินยังกำหนดรายรับโดยคำนวณราคาขายบ้านและที่ดินจากต้นทุนการก่อสร้าง ตามหลักเกณฑ์การคำนวณวัสดุก่อสร้างของกรมโยธาธิการบวกกำไร 20-25 เปอร์เซ็นต์ และบวกราคาประเมินที่ดินที่เจ้าพนักงานกำหนดขึ้นเป็นรายรับของโจทก์ จึงเป็นเหตุให้รายรับจากการขายสูงกว่าความเป็นจริงที่มีการซื้อขายกัน ณ สำนักงานที่ดินการประเมินภาษีอากรจากรายรับที่เจ้าพนักงานกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีกฎหมายสนับสนุนดังกล่าว จึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ ทั้งเงินเพิ่มที่จำเลยให้โจทก์รับผิดชำระถึง 2 เท่า ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร ก็ปรากฏว่ากฎหมายได้แก้ไขแล้วตั้งแต่ปี 2525 ให้คงเสียค่าปรับไม่มีคำว่าเงินเพิ่ม การที่โจทก์นำกฎหมายที่ยกเลิกแล้วมากำหนดให้โจทก์เสียเงินเพิ่มอีก 2 เท่าจึงไม่ถูกต้อง ทั้งกรณีมิได้เข้าข่ายที่จะต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 26 ด้วย เพราะมิใช่กรณีที่โจทก์มิได้ยื่นรายการตามมาตรา 23หรือ 24 ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บถึงร้อยละ 3 ซึ่งไม่มีอัตราในประมวลรัษฎากรให้เรียกเก็บเช่นนั้น และมิได้มีการคำนวณเงินได้และภาษีให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50, 48 และมิได้หักค่าใช้จ่ายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 ทวิ กับค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 สำหรับคนงานผู้มีเงินได้แต่ละคนหากปฏิบัติตามกฎหมายที่กล่าว ก็จะไม่มีเงินได้สุทธิถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ จึงขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว หรืองด หรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ระหว่างปี 2521 ถึง 2524 โจทก์ทำการปลูกสร้างอาคารพาณิชย์และทาวน์เฮ้าส์ แล้วขายอาคารเหล่านั้นพร้อมที่ดินหมดสิ้นในเดือนมกราคม ปี 2526 และแจ้งเลิกประกอบการค้า เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2524 แต่ตามหลักฐานที่โจทก์ส่งมอบให้เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบเมื่อแจ้งเลิกการค้า ปรากฏว่าโจทก์นำมาส่งมอบเฉพาะใบเสร็จรับเงินภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายส่วนใบเสร็จรับเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์มิได้นำมาส่งมอบเจ้าพนักงานประเมินจึงทำการตรวจสอบ พบว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้เพียงรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521เจ้าพนักงานจึงหมายเรียกบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 ถึง 2524 มาทำการตรวจสอบและหมายเรียกและหนังสือเชิญผู้ซื้ออาคารมาสอบถามราคาและให้นำสัญญาจะซื้อจะขายมาแสดง เจ้าพนักงานพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์มีรายได้มากกว่าที่ปรากฏหลักฐานตามบัญชี จึงแก้ไขปรับปรุงรายได้ของโจทก์ใหม่และเนื่องจากราคาที่ผู้ซื้อให้ถ้อยคำไว้ใกล้เคียงกับราคาที่คำนวณตามหลักเกณฑ์การก่อสร้างของกรมโยธาธิการ เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินราคาขายตามราคาที่ได้จากผู้ซื้อในรายที่มีหลักฐานมาแสดงและใช้ราคาตามหลักเกณฑ์ของกรมโยธาธิการในรายที่ไม่มีหลักฐานสัญญาจะซื้อจะขาย การประเมินของเจ้าพนักงานจึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้เพียงปี 2521 ดังกล่าวมาแล้ว และเฉพาะรอบระยเวลาบัญชีปี 2523โจทก์ยื่นเกินกำหนดเวลาและภายหลังที่เจ้าพนักงานประเมินหมายเรียกเอกสารบัญชีมาทำการตรวจสอบ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี2522 และ 2524 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภ.ง.ด. 5 แต่อย่างใด ดังนั้นโจทก์จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มภาษี2 เท่าตามประมวลรัษฎากร กรณีภาษีการค้าโจทก์นำยอดขายตามบัญชี
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ระหว่างปี 2521 ถึง 2524 โจทก์ทำการปลูกสร้างอาคารพาณิชย์และทาวน์เฮ้าส์ แล้วขายอาคารเหล่านั้นพร้อมที่ดินหมดสิ้นในเดือนมกราคม ปี 2526 และแจ้งเลิกประกอบการค้าเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2524 แต่ตามหลักฐานที่โจทก์ส่งมอบให้เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบเมื่อแจ้งเลิกการค้า ปรากฏว่าโจทก์นำมาส่งมอบเฉพาะใบเสร็จรับเงินภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ส่วนใบเสร็จรับเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์มิได้นำมาส่งมอบ เจ้าพนักงานประเมินจึงทำการตรวจสอบ พบว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้เพียงรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 เจ้าพนักงานจึงหมายเรียกบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 ถึ> 2524 มาทำการตรวจสอบและหมายเรียกและหนังสือเชิญผู้ซื้ออาคารมาสอบถามราคาและให้นำสัญญาจะซื้อจะขายมาแสดง เจ้าพนักงานพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์มีรายได้มากกว่าที่ปรากฏหลักฐานตามบัญชี จึงแก้ไขปรับปรุงรายได้ของโจทก์ใหม่ และเนื่องจากราคาที่ผู้ซื้อให้ถ้อยคำไว้ใกล้เคียงกับราคาที่คำนวณตามหลักเกณฑ์การก่อสร้างของกรมโยธาธิการ เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินราคาขายตามราคาที่ได้จากผู้ซื้อในรายที่มีหลักฐานมาแสดงและใช้ราคาตามหลักเกณฑ์ของกรมโยธาธิการในรายที่ไม่มีหลักฐานสัญญาจะซื้อจะขาย การประเมินของเจ้าพนักงานจึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้เพียงปี 2521 ดังกล่าวมาแล้ว และเฉพาะรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523โจทก์ยื่นเกินกำหนดเวลาและภายหลังที่เจ้าพนักงานประเมินหมายเรียกเอกสารบัญชีมาทำการตรวจสอบ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 และ2524 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 5แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มภาษี 2 เท่าตามประมวลรัษฎากร กรณีภาษีการค้าโจทก์นำยอดขายตามบัญชีหรือที่ทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินมายื่นเสียภาษีการค้าซึ่งต่ำกว่าราคาขายจริง จึงต้งอคำนวณาคาตามเกณฑ์ของกรมโยธาธิการเมื่อได้ประเมินรายรับเพิ่มโดยนำไปรวมกับรายรับของเดือนที่ออกใบเสร็จรับเงินงวดสุดท้ายแล้ว โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีการค้าเพิ่มเติม พร้อมทั้งเบี้ยปรับ 1 เท่า และเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522-2524 เกี่ยวกับปัยหาภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย โจทก์จ่ายค่าแรงงานแก่หัวหน้างานคนเดียว และหัวหน้างานนำบางส่วนไปจ่ายแก่คนงานพร้อมหักภาษี ณ ที่จ่ายจากคนงานนั้นไว้ นำส่งในนามโจทก์ และโจทก์ได้นำยอดจ่ายค่าแรงคนงานที่มาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายบริการโดยเรียกว่าเงินเดือน เป็นการลงจ่ายซ้ำซ้อน ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(9) ส่วนยอดเงินที่เหลืออีกจำนวนหนึ่ง หัวหน้าคนงานเก็บไว้เป็นเงินของตนเองไม่มีหลักฐานว่าได้จ่ายแก่ผู้ใด หรือได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งแต่อย่างใด เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินภาษีเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 3 ในชั้นอุทธรณ์โจทก์ให้การว่าไม่สามารถนำหลักฐานเกี่ยวกับค่าแรงและสถานภาพของคนงานมาแสดงเพื่อการคำนวณภาษีและตรวจสอบได้ ทั้งยินยอมให้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 โดยไม่โต้แย้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้า
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้า ส่วนภาษีเงินได้นบุคคลธรรมดาไม่มีฝ่ายใดฎีกา ปัญหาที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และในปัญหาดังกล่าวคงโต้เถียงกันในชั้นฎีกาแต่เพียงว่า ราคาของตึกแถวและทาวน์เฮ้าส์ที่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเป็นการประเมินเงินได้ของโจทก์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าการประกอบกิจการสร้างตึกแถวและทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์นั้น โจทก์ได้เสียภาษีการค้าตามแบบ ภ.ค.4 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.21 แต่ในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์คงยื่นเสียไว้เฉพาะปี พ.ศ. 2521 เพียงปีเดียว ปี พ.ศ. 2522-2524 โจทก์ไม่ได้ยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยังโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2522-2524 ปรากฏตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 213 ถึง 215ความข้อนี้นายตระกูล อังสนันรัตนา ผู้ชำระบัญชีของห้างโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่า เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้นำหลักฐานเอกสารไปแสดงกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ได้ยื่นเสียงภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีดังกล่าวแล้ว และในการประเมินภาษีดังกล่าว เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2522-2524 ไว้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงได้คิดคำนวณราคาจากผู้ซื้อที่สามารถตรวจสอบได้ และจากเกณฑืคำนวณของกรมโยธาธิการ คิดเป็นราคาขายตึกแถงพร้อมที่ดินของโจทก์ห้องละ 600,000 บาท และทาวน์เฮ้าส์ห้องละ870,000 บาท โดยได้ความจากนางพัชรินทร์ เตมียบุตร ซึ่งได้ให้การไว้ต่อเจ้าพนักงานประเมินเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2525 ว่า ได้ซื้อตึกแถวจากโจทก์ไปราคาห้องละ 600,000 บาท ปรากฏตามบันทึกคำให้การของนางพัชรินทร์เอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 33, 34 ซึ่งจำนวนเงินที่ซื้อขายก็ตรงกับหนังสือสัญญาซื้อขาย เอกสารหมาย จ. 5 แผ่นที่ 32แม้จะไม่ตรงกับหนังสือสัญญาซื้อขายที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งระบุว่าราคาเพียง 320,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4/1 แผ่นที่ 26 ดังที่โจทก์แก้ฎีกา แต่ก็เชื่อว่าข้อเท็จจริงน่าจะเป็นดังที่นางพัชรินทร์ให้การกับเจ้าพนักงานประเมินมากกว่า ส่วนราคาที่จดทะเบียนซื้อขายกับพนักงานเจ้าหน้าที่อาจจะเป็นอีกราคาหนึ่งซึ่งไม่ใช่ราคาซื้อขายที่แท้จริงก็เป็นได้ ข้อเท็จจริงจากนายอนุตร โครบุษป ผู้รับมอบอำนาจจากนางปทุม โครบุษป ก็คงได้ความทำนองเดียวกันว่า นายอนุตรได้ให้การกับเจ้าพนักงานประเมินว่า นายปมุทซื้อห้องแถวจากโจทก์ในราคาห้องละ 600,000 บาท และ 700,000 บาท ตามลำดับ แต่เนื่องจากการก่อสร้างไม่เสร็จเรียบร้อย โจทก์จึงลดให้ 20,000 บาท คงเป็นราคาตึกแถว 2 ห้อง เป็นเงิน 1,280,000 บาท ปรากฏตามบันทึกคำให้การของนายอนุตรเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 41 ซึ่งจำนวนเงินก็ตรงกับสัญญาซื้อขายลงวันที่ 8 มีนาคม 2522 เอกหสารหมาย จ.5แผ่นที่ 40 แต่ไม่ตรงกับหนังสือสัญญาซื้อขายที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เอกสารหมาย จ.4/1 แผ่นที่ 19 ซึ่งมีราคาเพียง 740,000บาท ลักษณะเช่นนี้ก็น่าเชื่อว่าราคาซื้อขายที่นายอนุตรให้การกับเจ้าพนักงานประเมินจะเป็นราคาที่ถูกต้องมากกว่าทำนองเดียวกับรายนางพัชรินทร์นั่นเอง และได้ความจากนางสุภัทรา ชุมสาย ณ อยุธยาพยานจำเลยว่า เนื่องจากการตรวจสอบไต่สวนราคาที่ซื้อขายไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ซื้อ นางสุภัทราจึงได้คิดคำนวณตามเกณฑ์ของกรมโยธาธิการ โดยเฉลี่ยตามหลักเกณฑ์การคำนวณที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ. 5 แผ่นที่ 177 ส่วนราคาทาวน์เฮ้าส์ก็ได้ความจากนางสุภัทราว่า ได้ข้อเท็จจริงจากนายอดุลย์ เตชะสุริยวรกุล ว่า ได้ซื้อทาวน์เฮ้าส์จากโจทก์ในราคาหลังละ 870,000 บาท พร้อมกับได้นำสัญญาซื้อขายมาให้ดูด้วย แต่ไม่ยอมให้ถ่ายภาพ ปรากฏตามบันทึกคำให้การของนายอดุลย์ เอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 30 ข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้ฝ่ายจำเลยจะไม่ได้นำผู้ซื้อที่ได้ให้ถ้อยคำถับเจ้าพนักงานประเมินมาเบิกความดังโจทก์แก้ฎีกา แต่จากเหตุผลของการคำนวณราคาขายตึกแถวและทาวน์เฮ้าส์ตามเอกสารหมาย จ.5แผ่นที่ 177 ซึ่งได้หักค่าใช้จ่ายและบวกกำไรให้ร้อยละ 25 แล้วจึงมาคำนวณเป็นรายรับของโจทก์นั้นน่าเชื่อได้ว่าเป็นการคำนวณรายรับของโจทก์ได้ตรงตามความเป็นจริงมากที่สุดแล้ว แม้โจทก์จะนำสืบบ่ายเบี่ยงเกี่ยวกับราคาซื้อขาย โดยกล่าวอ้างถึงแต่การจดทะเบียนซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อโจทก์ถูกฝ่ายจำเลยอ้างคำให้การของผู้ซื้อซึ่งได้ให้การไว้ต่อเจ้าพนักงานประเมินยันราคาตามที่เป็นจริง เช่นรายนายประสาธน์ สาธกุไร พยานโจทก์ก็ยอมรังว่าได้ให้การไว้กับเจ้าพนักงานประเมินตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 36ว่าได้ซื้อตึกแถวจากโจทก์ในราคา 450,000 บาทจริง ไม่ใช่ราคา300,000 บาทดังที่จดทะเบียนซื้อขายไว้ แต่โจทก์ก็กลับอ้างต่อไปว่าราคา 450,000 บาท เป็นราคาที่รวมค่าตกแต่งด้วย ซึ่งหากเป็นดังโจทก์แก้ฎีกาจริง นายประสาธน์ก็คงจะได้ให้ถ้อยคำถึงเรื่องนี้ไว้กับเจ้าพนักงานประเมินด้วยแล้ว นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าในชั้นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเพื่อเรียกเก็บภาษีอากรโจทก์นั้นนายตระกูล พยานโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่า โจทก์ไม่ได้นำสัญญาซื้อขายไปให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ดู ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินโดยวิธีคำนวณดังกล่าวแล้วคิดเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลและคิดเป็นภาษีการค้าให้ถูกต้องบริบูรณ์ จึงชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายและเหตุผลแล้ว หาเป็นการประเมินโดยไม่ได้อาศัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 และ 24 แห่งประมวลรัษฎากรดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่เพราะมาตรา 20 ซึ่งเป็นเรื่องยื่นรายการไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง กฎหมายก็ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ประเมินมีอำนาจประเมินโดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏกฎหมายหาได้บัญญัติไว้เพียงว่าต้องอาศัยพยานหลักฐานเท่านั้นไม่ และในกรณีที่โจทก์ไม่ได้ยื่นรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องดังที่มาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติไว้ดังนั้น เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ก็จึงจำต้องแสวงหาพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏ ซึ่งรายละเอียดของพยานหลักฐานที่หามาได้ปรากฏอยู่ในเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 177 อยู่แล้ว เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1ไม่จำต้องแสวงหาพยานหลักฐานจากผู้ซื้อตึกแถวและทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์จนครบทุกคน จึงจะสามารถททำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้วเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ก็ย่อมจะไม่มีโอกาสทำการประเมินตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เลย ซึ่งการแปลกฎหมายดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ย่อมไม่มีทางจะปฏิบัติได้ ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า ตามมาตรา 26แห่งประมวลรัษฎากรนั้นบทกฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วก่อนมีการประเมินในคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า บทกฎหมายดังกล่าวได้มีการแก้ไขและใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2525 ดังโจทก์แก้ฎีกาจริงแต่กรณีของโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ไม่ยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2522-2524 ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นตามกำหนดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร มูลหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่นั้น ดังนั้นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าของจำนวนเงินภาษีอากร ตามมาตรา 26ก่อนมีการแก้ไข อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะมูลหนี้ภาษีเกิดจึงชอบแล้ว ส่วนที่กรมสรรพากรได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ 21/2526 เรื่องระเบียบการงดหรือลดเบี้ยปรับตามมาตรา 22 และมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร ตามที่โจทก์อ้างมาในคำแก้ฎีกานั้นก็เป็นเพียงการให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการงดหรือลดเบี้ยปรับเท่านั้น หาใช่เป็นคำสั่งบังคับให้เจ้าพนักงานประเมินจำต้องงดหรือลดเบี้ยปรับตามคำสั่งดังกล่าวดังที่โจทก์เข้าใจไม่ ที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยให้โจทก์รับผิดชำระเงินเพิ่มอีก 2เท่าของเงินภาษี และภาษีการค้าพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้วที่ศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีการค้าด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาล โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาทแทนจำเลยทั้งสี่ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.

Share