คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4104/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สำหรับการแบ่งขายที่ดินครั้งแรก จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกอ้างว่าขายเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ของเจ้ามรดก จึงเป็นการจัดสรรทรัพย์สินของเจ้ามรดกเพื่อชำระหนี้ ซึ่งจะต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ.มาตรา 1740 วรรคท้ายกล่าวคือ ให้เอาทรัพย์สินออกขายทอดตลาด แต่ทายาทคนใดคนหนึ่งอาจมิให้มีการขายเช่นว่านั้นได้โดยชำระราคาทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ผู้ตีราคาซึ่งศาลตั้งขึ้นได้กำหนดให้ จนพอแก่จำนวนที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แต่จำเลยที่ 1 หาได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าให้ความยินยอมในการขายที่ดินดังกล่าว จึงเป็นการซื้อขายที่ไม่ชอบ สำหรับการขายที่ดินครั้งที่สองในที่ดินส่วนที่เหลือนั้น
แม้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 282 เป็นสินสมรสของเจ้ามรดกกับจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งก็ตามแต่จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิในฐานะเจ้าของรวมกับเจ้ามรดกเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส่วนของเจ้ามรดกครึ่งหนึ่งย่อมตกได้แก่ทายาทซึ่งมีโจทก์ทั้งห้าที่เป็นทายาทรวมอยู่ด้วยทันที จำเลยที่ 1 จึงยังมีสิทธิในฐานะเจ้าของรวมกับทายาทของเจ้ามรดกคนอื่น แม้ในเวลาต่อมาจำเลยที่ 1 จะทำการแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลง จำเลยที่ 1 และทายาทของเจ้ามรดกคนอื่นก็ยังเป็นเจ้าของรวมที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ จำเลยที่ 1 จะแบ่งแยกแล้วกำหนดว่าเป็นของตนส่วนใดโดยมิได้รับความยินยอมจาเจ้าของรวมคนอื่น ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1364หาได้ไม่ ดังนั้น ที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 15 ไร่ จึงมิใช่สินส่วนตัวของจำเลยที่ 1การที่จำเลยที่ 1 รับโอนมรดกที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 15 ไร่ ใส่ชื่อจำเลยทั้งสองและต่อมาโอนขายส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งห้า จึงเป็นการโอนโดยมิชอบเช่นกัน เมื่อการทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งสองครั้งของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จะเป็นทายาท แต่รับโอนในฐานะผู้ซื้อมิใช่รับโอนในฐานะทายาท จึงมิใช่เป็นไปเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก แต่เป็นการกระทำนอกขอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดกโดยคบคิดกับจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกต้องเสียเปรียบ โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิที่จะเพิกถอนการโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกในสภาพเดิม
จำเลยที่ 2 ใช้หนี้ของเจ้ามรดกให้แก่ธนาคารไป 548,000บาท ดังนั้น จึงต้องหักเงินกองมรดกใช้หนี้ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 เสียก่อนแบ่งมรดก

Share