แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 499 แสดงว่า แม้คู่สัญญาขายฝากกันเป็นเงินเท่าใดก็ตาม ก็ยอมให้คู่สัญญากำหนดเงินสินไถ่แตกต่างจากเงินราคาขายฝากได้และไม่จำกัดจำนวน และเมื่อคู่สัญญาไม่ได้กำหนดสินไถ่ไว้ ก็ให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝากฉะนั้น เมื่อคู่สัญญาระบุจำนวนเงินราคาขายฝากไว้โดยไม่ระบุสินไถ่อีก ผู้ขายฝากก็ไถ่ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้นั้น ซึ่งแม้ผิดกับราคาขายฝาก ก็มีผลเช่นเดียวกับระบุสินไถ่ไว้ สัญญาขายฝากไม่เป็นโมฆะ การกำหนดสินไถ่ไม่ใช่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ ไม่ขัดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 ไม่ผิดพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 อัตราค่าเช่านั้นกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขายฝากบ้านแก่โจทก์ ณ ที่ว่าการอำเภอ ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ไถ่ ต่อมาวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๕ จำเลยตกลงเช่าบ้านนั้นมีกำหนด ๑ ปี ค่าเช่าเดือนละ ๔๐๐ บาท และเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า จำเลยไม่ยอมทำสัญญาเช่าใหม่ และไม่ชำระค่าเช่า ๔,๘๐๐ บาท โจทก์ก็ได้ให้ทนายความบอกกล่าวให้จำเลยคืนบ้านและชำระค่าเช่าที่ค้าง จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหายเดือนละ ๔๐๐ บาท จึงขอให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง ๔,๘๐๐ บาท และชำระค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๖ ถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๓,๖๐๐ บาท และค่าเสียหายเดือนละ ๔๐๐ บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปจากบ้านโจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ความจริงจำเลยขายฝากในราคา ๔,๐๐๐ บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยถึงร้อยละสิบบาทต่อเดือน จึงเป็นดอกเบี้ยเดือนละ ๔๐๐ บาท หา-เดือนเป็นดอกเบี้ย ๒,๔๐๐ บาท เมื่อรวมกับต้นเงินจึงเป็นเงิน ๖,๔๐๐ บาท เป็นการละเมิดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๔ และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา สัญญาขายฝากจึงไม่สมบูรณ์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดบ้านของจำเลย จำเลยได้มีจดหมายขอมอบบ้านและขอเช่าบ้านจากโจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมให้จำเลยเช่า และไม่ยอมรับบ้านของจำเลย สัญญาเช่าบ้านท้ายฟ้องนั้นโจทก์บังคับให้จำเลยทำขึ้นเพื่ออำพรางเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ขอให้ศาลพิพากษาว่า สัญญาขายฝากสัญญาเช่าเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับให้โจทก์ยอมชำระหนี้ ๔,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันศาลพิพากษา จนถึงวันชำระ และให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งทำนองเดียวกับคำฟ้องและว่าสัญญาสมบูรณ์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาขายฝากไม่เป็นโมฆะกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ขายฝากจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ สัญญาเช่าไม่เป็นโมฆะ เมื่อพ้นเวลาตามสัญญาเช่าจำเลยมิได้ทำสัญญาเช่าต่อ โจทก์ของให้คืนบ้านจำเลยก็ไม่ยอมคืน จำเลยจึงอยู่ในบ้านของโจทก์โดยละเมิด พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านพิพาท ให้จำเลยให้ค่าเช่าที่ค้าง ๔,๘๐๐ บาทกับค่าเสียหายรวม ๘๐๐ บาท และค่าเสียหายเดือนละ ๔๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกจากบ้านของโจทก์ ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยมิได้กล่าวว่าจำนวนเงินในสัญญาขายฝากนั้นเขียนไว้โดยผิดพลาดด้วยความสำคัญผิดอย่างใด ตามมาตรา ๔๙๙ บัญญัติว่า “สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กำหนดไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก” ตามมาตรานี้แสดงว่า แม้คู่สัญญาขายฝากกันเป็นเงินเท่าใดก็ตาม ก็ยอมให้คู่สัญญากำหนดเงินสินไถ่แตกต่างจากเงินราคาขายฝากได้ และไม่จำกัดจำนวนเงินและเมื่อคู่สัญญาไม่ได้กำหนดสินไถ่ไว้ ก็ให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก ฉะนั้น เมื่อคู่สัญญาระบุจำนวนเงินราคาขายฝากไว้โดยไม่ระบุสินไถ่อีก ผู้ขายฝากก็ต้องไถ่ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้นั้น ซึ่งแม้จะผิดกับราคาขายฝากก็มีผลเช่นเดียวกับระบุสินไถ่ไว้นั้น สัญญาขายฝากจึงไม่เป็นโมฆะ และการกำหนดสินไถ่ไม่ใช่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๔ และไม่ผิดพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าบ้านเป็นสัญญาอำพรางเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีมีมูลที่โจทก์จำเลยจะทำสัญญาเช่าต่อกัน กล่าวคือ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ตกลงให้จำเลยได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินของโจทก์ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และจำเลยตกลงให้ค่าเช่าเพื่อการใช้ทรัพย์หรือเพื่อการได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินของโจทก์ อันเป็นการตกลงตามบทบัญญัติมาตรา ๕๓๗ ซึ่งว่าด้วยการเช่าทรัพย์ ส่วนอัตราค่าเช่านั้น กฎหมายก็มิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้ จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน กรณีไม่มีเหตุที่จะถือว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยเป็นนิติกรรมอำพราง
พิพากษายืน.
(สอาด นาวีเจริญ วิเชียร เศวตรุนทร์ แปล บุณยเกียรติ)