แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าและหนังสือต่อท้ายสัญญาเช่าระบุไว้แต่เพียงว่าจำเลยจะต้องสร้างตึกแถวอาคารพาณิชย์เท่านั้นการที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบว่ามีข้อตกลงด้วยวาจาว่าจำเลยจะต้องสร้างตึกแถวอาคารพาณิชย์3ชั้นและ2ชั้นหน้ากว้าง4เมตรลึก14ถึง16เมตรเป็นการนำสืบอธิบายความหมายของคำว่าตึกแถวอาคารพาณิชย์ในสัญญาไม่ใช่เป็นการสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าและหนังสือต่อท้ายสัญญาเช่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94(ข)โจทก์จึงนำพยานบุคคลมาสืบได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 30641 โดยได้รับการยกให้จากนายมงคล ม่วงศิริ โจทก์ที่ 2ผู้เป็นบิดา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2523 โจทก์ที่ 2 เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2521 โจทก์ที่ 2จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทำสัญญาแบ่งเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 30641เฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 2 งาน เพื่อสร้างอาคารพาณิชย์มีกำหนด 30 ปีนับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2521 เป็นต้นไป จดทะเบียนการเช่าที่สำนักงานที่ดินและมีเงื่อนไขตามหนังสือต่อท้ายสัญญาเช่าว่า เมื่อครบสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในที่เช่านี้ จำเลยทั้งสองยินยอมยกกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ให้เช่าโดยไม่เรียกร้องสิ่งตอบแทน ภายหลังจากได้ทำสัญญาเช่าแล้ว จำเลยทั้งสองหาได้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ทำถนนคอนกรีต และท่อระบายน้ำให้มีสภาพเรียบร้อยตามเงื่อนไขแห่งสัญญาเช่าไม่ อาคารที่ก่อสร้างไม่ถูกต้องตามสัญญา จึงถือว่าผิดสัญญาโจทก์ขอคิดค่าเสียหายห้องละ 100,000 บาทรวม 54 ห้อง เป็นเงิน 5,400,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันนำชำระเงิน 5,400,000 บาท และค่าขาดประโยชน์เดือนละ100,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองได้สร้างอาคารพาณิชย์ตามสัญญาเช่าให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2521 จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 30641 แขวงบางบอน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครบางส่วนเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 2 งาน มีกำหนด 30 ปี จากโจทก์ที่ 2โดยจำเลยทั้งสองจะต้องก่อสร้างตึกแถวอาคารพาณิชย์ ถนนคอนกรีตและท่อระบายน้ำและยกให้แก่โจทก์เมื่อครบสัญญาเช่า คิดค่าเช่าปีที่ 1 ถึงปีที่ 10 ตารางวาละ 1.50 บาท เดือนละ 3,900 บาท ปีที่ 11ถึงปีที่ 20 ตารางวาละ 2 บาท เดือนละ 5,200 บาท ปีที่ 21 ถึงปีที่ 30 ตารางวาละ 3 บาท เดือนละ 7,800 บาท หากผิดสัญญาผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันที ตามหนังสือแบ่งเช่าที่ดินและหนังสือต่อท้ายสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2527 โจทก์ที่ 2 ทำนิติกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ก่อสร้างตึกแถวอาคารพาณิชย์ตามสัญญาเช่าจริงหรือไม่ ปัญหาแรกที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าโจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบว่ามีข้อตกลงด้วยวาจาว่าจำเลยทั้งสองจะต้องสร้างตึกแถวอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น และ 2 ชั้น หน้ากว้าง 4 เมตร ลึก 14 เมตรถึง 16 เมตร ได้หรือไม่ เห็นว่า ในสัญญาเช่าและหนังสือต่อท้ายสัญญาเช่าระบุไว้แต่เพียงว่าจำเลยจะต้องสร้างตึกแถวอาคารพาณิชย์เท่านั้น การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบดังกล่าวจึงเป็นการนำสืบอธิบายความหมายของคำว่าตึกแถวอาคารพาณิชย์ในสัญญาไม่ใช่เป็นการสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าและหนังสือต่อท้ายสัญญาเช่าตามเอกสารหมาย จ.8 และจ.9 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) แต่อย่างใดโจทก์จึงนำพยานบุคคลมาสืบได้”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินที่เช่าและส่งมอบที่ดินที่เช่าพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าขาดประโยชน์เดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก