คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4099/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ในกรณีความผิดอันยอมความได้นั้นอาจเป็นได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กล่าวคือ ถ้ายังโต้เถียงว่า ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดเมื่อใด ย่อมเป็นปัญหาข้อเท็จจริง หากข้อเท็จจริงที่ได้ความยุติแล้วว่า ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่เมื่อใด และคู่ความโต้เถียงกันเพียงว่าอายุความเริ่มนับแต่เมื่อใดแล้วย่อมเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2526 แต่ร้องทุกข์เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2527 ซึ่งเป็นเวลาเกิน 3 เดือน นับแต่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดคดี จึงเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นการยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 22 ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 โจทก์อุทธรณ์ว่า ผู้เสียหายเพิ่งจะรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาเพื่อจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ ย่อมไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่เมื่อใด เป็นอันยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง ๑๓ คนร่วมกันทำหนังสือมีข้อความหมิ่นประมาทใส่ความนายศุภศักดิ์ เหล่าทองสาร ผู้เสียหาย ยื่นต่อนายบุญมา พุฒเขียว บุคคลที่ ๓ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ผู้เสียหายทำการร้องทุกข์แล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๒๖ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๗.
จำเลยทั้ง ๑๓ คนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่นั้น อาจเป็นได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย กล่าวคือ ถ้ายังโต้เถียงว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อใด ย่อมเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหากข้อเท็จจริงที่ได้ควมยุติแล้วว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่เมื่อใด และคู่ความโต้เถียงกันเพียงว่าอายุความเริ่มนับแต่เมื่อใดแล้ว ย่อมเป็นปัญหาข้อกฎหมายคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและทราบตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๖ แต่ผู้เสียหายมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๒๗ ซึ่งเป็นเวลาเกิน ๓ เดือน นับแต่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีจึงเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นการยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลชแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๐ ประกอบกับพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๒๐ มาตรา ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ มาตรา ๓ โจทก์อุทธรณ์สรุปใจความได้ว่าผู้เสียหายเพิ่มจะรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๖ เพื่อจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้าง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ย่อมไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่เมื่อใด เป็นอันยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกฎีกาโจทก์

Share