แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์จะนำคดีขึ้นสู่ศาลใดนั้นจะต้องพิจารณาว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดเป็นสำคัญ เมื่อคดีอยู่ในอำนาจของศาลใดแล้ว อีกศาลหนึ่งไม่มีอำนาจรับคดีเรื่องนั้นไว้พิจารณาพิพากษา เว้นแต่จะมีบทกฎหมายบัญญัติให้ศาลมีอำนาจที่จะรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษาได้ ซึ่งคดีเรื่องนี้แม้ศาลจังหวัดพิษณุโลกได้รับฟ้องโจทก์ไว้และมีการพิจารณาสืบพยานโจทก์จนเสร็จและอยู่ระหว่างนัดสืบพยานจำเลยดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏภายหลังว่าเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพิษณุโลกตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ไม่ใช่คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดพิษณุโลกเสียแล้ว ศาลจังหวัดพิษณุโลกย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเรื่องนี้ได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้อำนาจศาลจังหวัดพิษณุโลกที่จะใช้ดุลพินิจรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปได้ด้วย ดังนั้น การที่ศาลจังหวัดพิษณุโลกมีคำสั่งให้โอนคดีเรื่องนี้ไปยังศาลแขวงพิษณุโลกซึ่งเป็นศาลที่เขตอำนาจพิพากษาคดีได้นั้นเป็นการชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดพิษณุโลกว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 171 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2544 โจทก์ยื่นคำขอสอบเขตที่ดินและนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยซึ่งมีที่ดินติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกได้คัดค้านการรังวัด โดยอ้างว่าโจทก์นำรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยเนื้อที่ 1 ไร่ 54 ตารางวา ตามรูปแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินให้แก่โจทก์ได้ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ 54 ตารางวา ในแผนที่เอกสารท้ายฟ้องเป็นที่ดินของโจทก์และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การและฟ้องแย้งและขอแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 310 ซึ่งไม่มีส่วนใดอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินเข้าไปรังวัดในที่ดินของจำเลยเป็นการรบกวนการครอบครองและแย่งการครอบครองที่ดินของจำเลยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องและห้ามมิให้โจทก์และบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ไม่ได้บุกรุกและแย่งการครอบครองที่ดินของจำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างการพิจารณาศาลจังหวัดพิษณุโลกมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อทำแผนที่พิพาท และมีคำสั่งให้จำเลยเสนอราคาประเมินของที่ดินพิพาทและเสียค่าขึ้นศาลตามราคาที่ดินดังกล่าวเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ต่อมาจำเลยเสนอสำเนาหนังสือประเมินราคาที่ดินของสำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลกซึ่งได้ประเมินราคาที่ดินพิพาทตารางวาละ 100 บาท ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 7 ไร่ 74 ตารางวา คิดเป็นทุนทรัพย์ 287,400 บาท โจทก์และจำเลยได้เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ดังกล่าว
ศาลจังหวัดพิษณุโลกดำเนินการสืบพยานโจทก์จนเสร็จ ระหว่างนัดสืบพยานจำเลย ศาลจังหวัดพิษณุโลกเห็นว่าคดีนี้มีทุนทรัพย์พิพาทไม่เกิน 300,000 บาท อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพิษณุโลก จึงมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงพิษณุโลกตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งของศาลจังหวัดพิษณุโลกที่ให้โอนคดีไปยังศาลแขวงพิษณุโลกชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์จะนำคดีขึ้นสู่ศาลใดนั้นจะต้องพิจารณาว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดเป็นสำคัญ เมื่อคดีอยู่ในอำนาจของศาลใดแล้ว อีกศาลหนึ่งไม่มีอำนาจรับคดีเรื่องนั้นไว้พิจารณาพิพากษา เว้นแต่จะมีบทกฎหมายบัญญัติให้ศาลมีอำนาจที่จะรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษาได้ ซึ่งคดีเรื่องนี้แม้ศาลจังหวัดพิษณุโลกได้รับฟ้องโจทก์ไว้และมีการพิจารณาสืบพยานโจทก์จนเสร็จและอยู่ระหว่างนัดสืบพยานจำเลยดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏภายหลังว่าเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพิษณุโลกตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ไม่ใช่คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดพิษณุโลกเสียแล้ว ศาลจังหวัดพิษณุโลกย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเรื่องนี้ได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้อำนาจศาลจังหวัดพิษณุโลกที่จะใช้ดุลพินิจรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปได้ด้วย ดังนั้น การที่ศาลจังหวัดพิษณุโลกมีคำสั่งให้โอนคดีเรื่องนี้ไปยังศาลแขวงพิษณุโลกซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้นั้นเป็นการชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้ายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน